นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค.60 ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีผลของฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดีทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างทรงตัวจากปัจจัยชั่วคราว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงบ้าง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 13.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 14.1% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องทุกตลาดส่งออกสำคัญและในเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ 1.ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รวมถึงการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ตามการส่งออกยางล้อ เกียร์กระปุก และเครื่องยนต์ 2.สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ ตามการส่งออกหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โทรศัพท์มือถือ และแผงวงจรรวม 3.สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และ 4.สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากวันหยุดทำการที่มากกว่าปกติและการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าของบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวดี
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขยายตัว 20.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ ประกอบกับผลของฐานต่ำจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในปีก่อน เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และรายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการก่อสร้างอาคารและการซื้อเครื่องใช้สำนักงานของมหาวิทยาลัย และการเบิกจ่ายเพื่อพัฒนาเคหะและชุมชนของกลุ่มจังหวัด รวมถึงการเบิกจ่ายของหน่วยงานหลักยังขยายตัวดี
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ โทรคมนาคม พลังงาน และอุปกรณ์ถ่ายภาพและภาพยนตร์ อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มของธุรกิจบริการและขนส่ง อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับลดลงส่วนหนึ่งจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลงจากปัจจัยชั่วคราว ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน และสินค้ากึ่งคงทน สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง โดยรายได้ในภาคเกษตรกรรมกลับมาหดตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว
มูลค่าการนำเข้าสินค้า ขยายตัว 16.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 18.4% ตามการนำเข้าที่ขยายตัวในเกือบทุกสินค้า ได้แก่ 1.หมวดเชี้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน 2.หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าโลหะ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรรวม และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3.หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และ 4.หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ยา และเครื่องสำอาง เป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.86% เท่ากับเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนตามภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1.การชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินที่กู้เข้ามาเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศในช่วงก่อนหน้า 2.การขายสุทธิตราสารหนี้ภาครัฐของนักลงทุนต่างชาติ และ 3.การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย