นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันแนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีจากกองทุนรวมที่ไปลงทุนในตราสารหนี้นั้นเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น และเชื่อว่าจะไม่เป็นประเด็นไปลดแรงจูงใจของประชาชนที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ อย่างแน่นอน
โดยเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินการดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น ส่วนรายละเอียดว่าจะเก็บภาษีอย่างไรบ้างนั้นยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา
"ขณะนี้ปิดรับฟังความเห็นเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ยังไม่เห็นข้อสรุปทั้งหมด กระบวนการหลังจากนี้ก็จะต้องเอาความคิดเห็นที่ได้มาดูว่าเป็นอย่างไร เอาผลที่ได้มาดูว่าแนวทางการเก็บภาษีที่เหมาะจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง" นายสมชัย กล่าว
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดรองนั้น เชื่อว่าขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คงอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของมาตรการ โดยยังไม่มีการเสนอมาให้กระทรวงการคลังพิจารณา แต่หากมองตามหลักคิดหรือวัตถุประสงค์ของมาตรการถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดรอง แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยว่าภาษีที่จะให้กับมาตรการนั้นจะเกิดจากการท่องเที่ยวในจังหวัดรองจริง และจังหวัดเป้าหมายจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเรื่องนี้เชื่อว่ากรมสรรพากรก็พร้อมจะดำเนินการหากมีข้อสรุปออกมา
นายสมชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 2 ว่า ภายในสัปดาห์นี้จะเร่งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการเดินหน้าสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 ว่าจะสามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ และเกิดผลจริงด้วย โดยสวัสดิการที่จะมอบให้ผู้มีรายได้น้อยในระยะที่ 2 นั้น จะเน้นส่งเสริมใน 4 มิติ ได้แก่ การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การส่งเสริมการศึกษา และการฝึกอบรมอาชีพ, การเพิ่มโอกาสในการทำงาน ทั้งในส่วนของมีงานทำ และการเป็นเจ้าของกิจการ และการส่งเสริมการมีปัจจัย 4 เป็นของตัวเอง อาทิ ที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จำเป็น
"ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป้าหมายหลักที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กำหนดมา คือต้องทำให้ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนในในโครงการสวัสดิการรัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน ซึ่งในส่วนนี้มีคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ถึง 5 ล้านคนลดลง รวมทั้งการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในรอบนี้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงต้องหารือร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างแท้จริง คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์น่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด และจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว
สำหรับงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการนั้นยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่เบื้องต้นจะเป็นการบูรณาการโครงการเก่า ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้มีรายได้น้อย การส่งเสริมอาชีพ ของกระทรวงต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว นำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกันและผลักดันออกมาอย่างเป็นระบบ
ส่วนมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560 (มาตรการช็อปช่วยชาติ) ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสมชัย กล่าวว่า ประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนจะมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปี 2561 อีกหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องที่ระดับนโยบายจะเป็นผู้พิจารณาเอง เพราะโดยหลักแล้วต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมประกอบด้วย
"มาตรการช็อปช่วยชาติที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 11 พ.ย. - 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าผลตอบรับดี ส่วนปลายปีคงไม่มีมาตรการลักษณะนี้ออกมาแล้ว ดังนั้นปลายปีก็จะเป็นการใช้จ่ายจากประชาชนเอง และปีหน้าจะมีการหยิบยกมาตรการนี้ออกมาดำเนินการอีกหรือไม่ ก็คงต้องดูหลาย ๆ อย่างประกอบ โดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายนโยบายจะพิจารณาเอง แต่ในส่วนของกระทรวงการคลังยืนยันว่ามีความพร้อมอยู่แล้ว" นายสมชัย กล่าว