ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยในธ.ค.ไม่สร้างแรงกดดันต่อตลาดการเงินไทย เชื่อกนง.ยังคงดอกเบี้ยรอศก.ไทยฟื้นชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 6, 2017 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 1.00-1.25% เป็น 1.25-1.50% ในการประชุมนโยบายการเงินรอบสุดท้ายของปีนี้ หลังพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี ขณะที่การปรับลดขนาดงบดุลไม่ได้ส่งผลต่อตลาดการเงินของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การส่งสัญญาณถึงมุมมองของเศรษฐกิจ และแนวโน้มระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะข้างหน้า

พร้อมมองว่า เฟดน่าจะอยู่บนเส้นทางของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปี 2561 จากปัจจัยสนับสนุนจากขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ดีกว่าระดับศักยภาพ รวมทั้งสัญญาณเชิงบวกของเงินเฟ้อ ที่คงทยอยกลับมาอีกครั้งหลังปัจจัยกดดันชั่วคราวหมดลง

ทั้งนี้ พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์ถึงความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านพัฒนาการของตลาดแรงงานและเครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งด้านการบริโภคและการผลิตที่ยังคงมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง แม้ว่าเฟดจะได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ รวมทั้งได้เริ่มกระบวนการปรับลดงบดุลในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งสะท้อนจากการขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 3/60 ที่ขยายตัว 3.3% SAAR สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยภาพดังกล่าวได้สนับสนุนให้เฟดสามารถดำเนินนโยบายการเงินให้เป็นปกติมากขึ้น โดยเฟดคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ตามที่เฟดได้ส่งสัญญาณไว้

"เฟดน่าจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินรอบสุดท้ายของปีนี้ หลังข้อมูลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับผลต่อประเทศไทย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในครั้งนี้ไม่น่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงต่อท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ตลอดจนสร้างแรงกดดันต่อตลาดการเงินไทยมากนัก เนื่องจากตลาดการเงินได้รับรู้ข้อมูลที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ไปมากแล้ว

อย่างไรก็ดี แนวโน้มข้างหน้าเฟดยังคงอยู่ในเส้นทางของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่อง อันคงจะทยอยสร้างแรงกดดันต่อระดับสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกในระยะต่อไป และอาจส่งผลให้ต้นทุนการเงินมีโอกาสปรับตัวขึ้นบางส่วน ในขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของไทยคงจะมีการปรับเปลี่ยนในจังหวะที่ล่าช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย คงรอภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เมื่อมองไปข้างหน้าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังเป็นวัฏจักรขาขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงของการเติบโตในระดับที่สูงกว่าศักยภาพในระยะยาว เป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการสะสมของภาวะฟองสบู่อันเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งลดความเสี่ยงที่เฟดอาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรีบเร่งอันจะเป็นประเด็นที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ขณะที่มองไปข้างหน้า หากร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรสและมีผลบังคับใช้ จะเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนในการสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อให้ปรับเพิ่มขึ้น อันเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีหน้า

2. ทิศทางของเงินเฟ้อทยอยปรับตัวขึ้นในปีหน้า แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อโดยรวมของสหรัฐฯ จะยังคงต่ำกว่าที่เฟดประมาณการไว้เล็กน้อย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม ขยายตัว 2.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังคงอยู่ประมาณ 1.3-1.4% เป็นระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ 2.0 % จากแรงกดดันของราคาค่าบริการโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ลดลง ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากข้อมูลเงินเฟ้อของภาคบริการเริ่มมีสัญญาณเชิงบวก โดยในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัว 2.7% YoY นอกจากนี้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ระดับอัตราการว่างงานมีโอกาสที่จะต่ำกว่า 4.0% น่าจะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงโอกาสที่การปรับขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐฯ คงอยู่ในระดับที่สูงขึ้นในปีหน้า อันเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดสามารถที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้าได้

ประเด็นการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะมีผลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระดับที่จำกัด เนื่องจากคณะกรรมการเฟดคงพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากข้อมูลพัฒนาการของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในส่วนของตัวแทนผู้ว่าการจากเฟดสาขาจะมีการสับเปลี่ยนจำนวน 4 ที่นั่ง ในขณะที่ฝั่งของกรรมการบริหารของเฟด (Board of Governors) ได้มีการเสนอชื่อนาย Marvin Goodfriend เป็นสมาชิกคนล่าสุดทำให้ภาพรวมของคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟดมีท่าทีสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นกว่าคณะกรรมการชุดก่อน

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามการสรรหาคณะกรรมการบริหารของเฟดอีก 3 ที่นั่งที่ว่าง เนื่องจากนางเยลเลน ประกาศที่จะไม่กลับมาเป็นคณะกรรมการบริหารของเฟด หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งประธานเฟดในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 รวมทั้ง ตำแหน่งที่ว่างลงจากการเกษียณของประธานเฟดนิวยอร์กในช่วงกลางปี 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ