CIMBT ชี้ปี 62 เป็นปีทองศก.ไทย ปชช.เริ่มกลับมาใช้จ่าย-ลงทุนหลังเกิดการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลชุดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 6, 2017 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่า ปีทองที่แท้จริงของประเทศไทยน่าจะเป็นปี 2562 เนื่องจากเป็นปีที่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ประชาชนกลับมามีการจับจ่ายใช้สอย บริโภค หรือลงทุนเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศสามารถขับเคลื่อนงานไปได้จากสิ่งที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางโครงการไว้

"ปีทองของไทยจริงๆ ไม่ใช่ปีหน้า เรามองว่าปีทองของเศรษฐกิจไทยคือปี 2562 เพราะหลังเกิดการเลือกตั้ง คนจะกลับมาลงทุน และบริโภค รัฐบาลชุดถัดไปของ คสช.นับว่าเป็นรัฐบาลที่โชคดี เพราะสิ่งที่ คสช.ได้ทำและเดินหน้ามาแล้วนั้น เริ่มจะเห็นผล และจะขับเคลื่อนได้ในปีถัดไป" นายอมรเทพ กล่าว

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรได้รับการแก้ไขต่อไป เช่น การขาดแคลนแรงงานมีทักษะ, การเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนที่เป็นประเทศรายได้สูง และการมีกฎระเบียบและข้อจำกัดในการลงทุนอันบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของเอกชน เป็นต้น ดังนั้นการปฏิรูปทางเศรษฐกิจยังไม่จบแม้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 61 นายอมรเทพ กล่าวว่า นอกจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศและต่างประเทศแล้ว ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความมั่นใจทางการเมือง ความมั่นใจในการเลือกตั้ง ความจริงที่ต้องยอมรับ คือ การเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ มีผลต่อความมั่นใจต่อนักลงทุน และผู้บริโภค หากคนไม่มั่นใจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ ดังนั้นธนาคารจึงให้มุมมองไว้เป็น 3 สถานการณ์ คือ

สถานการณ์ที่ 1 เลื่อนการเลือกตั้ง : ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิ การติดขัดในกฎหมายย่อย หรือกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ การตกลงเจรจาไม่ได้ข้อสรุป หรืออาจเป็นเพราะไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ทัน ด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้เหล่านี้ ทำให้แผนการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.61 ต้องเลื่อนออกไป อาจส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน คนชะลอการบริโภค ประมาณการ GDP ปี 61 จะอยู่ที่ 3.5-3.8%

สถานการณ์ที่ 2 มีการเลือกตั้ง : ภายใต้บริบทที่มีการคาดการณ์กันว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองให้สานต่อการบริหารประเทศ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของนโยบาย ประมาณการ GDP ปี 61 จะอยู่ที่ 3.7-4.0%

สถานการณ์ที่ 3 มีการเลือกตั้ง : ภายใต้บริบทที่ คสช.เปลี่ยนผ่านรูปแบบมาใช้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในการกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐบาล ส่วนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย หรือพรรคใดๆ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่วุฒิสภายังคงมีอำนาจในการกำกับดูแล และควบคุมแนวทางของรัฐบาลให้เดินตามนโยบายปฏิรูปแห่งชาติ หรือนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สถานการณ์นี้ความเชื่อมั่นและความต่อเนื่องด้านนโยบายจะยังคงอยู่ต่อไป การเมืองไทยมีภาพลักษณ์เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งคาดว่าจะได้รับคะแนนนิยมและมุมมองที่ดีจากต่างชาติ อีกทั้งน่าจะทำให้เห็นภาพอนาคตที่มีความชัดเจนขึ้น โดยประมาณการ GDP จะเติบโตได้ถึง 3.9-4.5%

"แต่ไม่ว่าปีหน้าสถานการณ์ทางการเมืองจะออกมารูปแบบไหนใน 3 แบบนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มเติบโตเหนือ 3.5% ด้วยปัจจัยพื้นฐานเป็นตัวขับเคลื่อน ปัจจัยพื้นฐานที่กำลังเร่งตัวดีขึ้น ได้แก่ ปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลให้การส่งออกไทยพลิกเป็นบวก และถ้าการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องได้ 2 ไตรมาส เราจะเริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น คนเริ่มกลับมาลงทุน การบริโภคจะเริ่มกลับมา ซึ่งตรงนี้เองเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยไม่ว่าการเมืองปีหน้าจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปชะลอลงต่ำกว่า 3%"นายอมรเทพ กล่าว

โดยสรุปแล้วภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 61 น่าจะเร่งตัวขึ้นจากปีนี้ จากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากอ่อนแอมาหลายปี จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากเสถียรภาพทางการเมือง สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 61 จะเติบโต 4% จากปี 60 ที่คาดว่าจะโต 3.9%

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 61 น่าจะคงที่ระดับ 1.5% ตลอดทั้งปี เพื่อรักษาสมดุลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำ อีกทั้งเฟดมีความพร้อมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้ง จึงเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงน่าจะคงดอกเบี้ยได้ตลอดทั้งปี ในเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่าดอกเบี้ยไทย จึงเป็นแรงสนับสนุนให้ไทยเกิดเงินไหลออก ส่งผลให้ความน่าสนใจในการเข้ามาซื้อตราสารหนี้ของไทยลดลง ซึ่งเป็นทิศทางทำให้ค่าเงินบาทปี 61 อ่อนค่าที่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินจะไหลออกจากนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนโยบายการปฏิรูปภาษีของทรัมป์ ส่วนสาเหุตที่เงินบาทในระยะนี้แข็งค่าขึ้นนั้น คาดว่าเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวจากความไม่มั่นใจนโยบายลดภาษีของทรัมป์เป็นสำคัญที่ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ขณะที่คาดว่าปี 61 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยกว่าปี 60 เพราะการส่งออกไม่น่าจะเติบโตได้แรงเท่ากับปีนี้ เนื่องจากฐานที่เริ่มสูงขึ้น และการนำเข้าจะเริ่มขยายตัวจากความต้องการสินค้าทุนที่ใช้ในการผลิต

ด้านนายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน CIMBT เปิดเผยว่า จากคาดการณ์ของสำนักวิจัยฯ ที่มองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะคงยาวตลอดทั้งปีนั้น ส่วนของดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มเห็นสัญญาณการขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ จึงแนะนำนักลงทุนที่เล็งว่าจะลงทุนตราสารหนี้ แนะนำให้ทยอยซื้อ เพื่อรอรับดอกเบี้ยระยะยาว 3 ปี 5 ปี 7 ปี ที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 61 ส่วนผู้ที่ถือครองตราสารไว้อยู่แล้ว ควรศึกษาลงทุนการซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรอง ทำการซื้อขายเปลี่ยนมือเตรียมสภาพคล่องไว้ลงทุนในตราสารออกใหม่ที่จะออกมาในอนาคต

โดยหุ้นกู้ประเภทใหม่ที่น่าจับตาคือ หุ้นกู้ที่อ้างอิงกับหน่วยลงทุนต่างประเทศ หรือ fund link note ซึ่งมีข้อดี คือ ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในหน่วยลงทุนโดยตรง โดยได้รับความคุ้มครองเงินต้นโดยผู้ออก ทำให้ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ เพราะตอบโจทย์นักลงทุนกลุ่มที่ต้องการความคุ้มครองเงินต้น แต่ต้องการโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนทั่วไป นอกจากนี้ fund link note เป็นอีกก้าวของการไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่ fund link note จะลิงค์กับกองทุนขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง ซึ่งธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กำลังจะเสนอขาย fund link note เร็วๆ นี้

นายภูดินันท์ กล่าวว่า เป็นจังหวะที่ดีของการไปลงทุนต่างประเทศ จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ขยายช่องทางและขยายเพดานให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพานักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศ เพิ่มเติมจากเดิมที่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์ อีกทั้งเมื่อเร็วๆนี้ ทางการยังขยายเพดานการลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทยจาก 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ปัจจัยต่างประเทศในช่วงนี้ยิ่งเพิ่มความน่าไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือแผนภาษีของทรัมป์จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้เร็วแค่ไหน และเมื่อใช้แล้วจะส่งผลกระทบด้านบวกต่อบริษัทมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ ภาษีที่ลดลงจะส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีกำไรมากขึ้น และจะสะท้อนในราคาหุ้นที่สูงขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐน่าสนใจ ต่อเนื่องจากปีนี้ที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมาถึง 20%

นอกจากนี้ ค่อนข้างชัดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะปรับเพิ่มขึ้น กลายเป็นโอกาสของการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งวันนี้เริ่มเห็นนักลงทุนสถาบันไทยกลับไปซื้อตราสารหนี้ และ fixed income ของต่างประเทศมากขึ้นแล้ว จากที่เคยลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพราะดอกเบี้ยสหรัฐเป็นขาขึ้น ส่งผลให้ตราสารหนี้ต่างประเทศเริ่มมีผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ในไทย จึงมีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ

"สิ่งที่นักลงทุนไทยกลัวการไปลงทุนต่างประเทศคือ อัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะปีนี้เงินบาทแข็งค่าไป 8% แข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวดีกว่าไทย อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวดีขึ้น 20% ตลาดหุ้นฮ่องกงดีขึ้น 30% ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไม่ถึง 10% ดังนั้น เมื่อหักลบเงินบาทที่แข็งค่ากว่า เทียบกับผลตอบแทนที่น้อยกว่า นับว่ามีโอกาสสร้างผลกำไรให้มากขึ้น" นายภูดินันท์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในการสร้างความคุ้นเคยกับการลงทุนต่างประเทศ คือ การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ เพื่อการลงทุน และกระจายความเสี่ยง ซึ่ง ธปท.ได้ขยายวงเงินในการถือครองอัตราแลกเปลี่ยนจาก 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อคน นอกจากนี้ นักลงทุนอาจสร้างความคุ้นเคยโดยเริ่มลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อาเซียน ซึ่งน่าสนใจเช่นกัน ยกตัวอย่าง ตลาดตราสารหนี้ในอินโดนีเซียให้ผลตอบแทน 6% มาเลเซีย 3-4% เทียบกับไทยที่ 2% นับเป็นอีกทางเลือกที่นักลงทุนสามารถศึกษาเพื่อลงทุนได้ โดยเฉพาะในภาวะที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ