นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ว่า ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมหารือแก้ปัญหาราคายางพารา และดูแลการผลิต การตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงาน อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการหารือร่วมกันกับนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์เมื่อวานนี้นั้น ได้หยิบยกเหตุผลที่เกษตรกรชาวสวนยาง 16 จ.ภาคใต้ต้องออกมาเคลื่อนไหว โดยอธิบายว่าสมาคมฯ เป็นเครือข่ายเดียวที่ไม่ได้ขับไล่ผู้ว่าการยางฯ เพียงแต่บอกว่าผู้บริหารการยางหมดความชอบธรรมในการบริหาร ด้วยเหตุผลคือ 1.ชาวสวนยางบอกมาตลอดว่าอย่าขายสต็อก 3.1 แสนตัน แต่ปรากฎว่าขายไปแล้ว 2 แสนตัน ยังเหลืออีก 1 แสนตัน ซึ่งนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ ประกาศชัดว่าจะไม่ขายยางที่เหลือในสต็อกอีก 1 แสนตัน แต่จะเอามาใช้ในประเทศ ซึ่งถ้ารมว.ฉัตรชัย คิดทันตั้งแต่ตอนนั้นราคายางก็คงไม่ตกลงมา 20 บาท
"คำว่า 20 บาทนี่เปรียบเทียบกับปี 59...ราคายางตก 1 บาท พี่น้องร้องไห้ไป 10 ล้านบาทต่อวัน เพราะฉะนั้น 20 บาทก็วันละ 200 ล้าน เงินหายจากระบบ 200 ล้านบาท ถ้าคิดตั้งแต่ 18 ตุลาคมจนถึง 18 ธันวาคม จะเสียหายทั้งหมด 12,000 ล้านบาท"
เหตุผลที่ 2 ที่ทำให้ราคายางตกต่ำอย่างผิดปกติ คือ การขึ้นภาษีเซส (CESS) หรือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากการส่งออกแต่ผู้ส่งออกผลักภาระมาที่ชาวสวน โดยเมื่อก่อนเก็บแบบขั้นบันได เช่น เมื่อก่อนยางราคา 100 บาท เก็บภาษีเซส 5 บาท ซึ่งใน 5 บาทแบ่ง 60:40 เจ้าของสวนจ่าย 3 บาท ชาวสวนจ่าย 2 บาท แต่การเก็บเซสทุกวันนี้ ถ้าคิดราคา FOB จะต้องเก็บที่ 1.40 บาท แต่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา กยท.เสนอ ครม.เก็บ 2 บาท เท่ากับต้องแบกภาษีเซส 60 สต.ต่อกิโลกรัมที่พ่อค้าไปกดราคา
"ซึ่งเรื่องนี้เคยเตือนแล้วว่ามันจะทำให้ราคายางตก แต่ท่านไม่ฟัง"
เรื่องบริษัทร่วมทุน เราบอกว่าเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่ตนเป็นกรรมการวิสามัญในการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องการให้ กยท.เป็นเสือตัวที่ 6 คือตั้งบริษัทเองไม่ใช่เป็นลูกแมวที่อยู่ภายใต้ปีกของ 5 เสือ เพราะฉะนั้นการทำเจตนารมณ์เป็นเรื่องที่สำคัญนะ
"ตอนที่ร่างพ.ร.บ.การยาง เราบอกว่าการมองสวนยางต้องมองเห็นคนด้วย ต้นยางอยู่เฉยๆ น้ำยางไม่ออกต้องมีคนกรีด โดยเสนอว่าต้องการให้แก้ไข พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 49(5) เพื่อให้ชาวสวนยางที่สมัครใจสามารถจ่ายเงินสมทบเข้าเงินเซสเพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการแก่ชาวสวนยางได้ ซึ่งจะเปลี่ยนจากเดิมเป็นการสงเคราะห์ เป็นสวัสดิการ หากชาวสวนยางจ่ายเงินสมทบได้ ก็ให้ กยท.จ่ายเงินสวัสดิการให้แก่คนกรีดยางครัวเรือนละ 3,000 บาท ใช้เยียวยาเวลาเกิดวิกฤตราคายางพารา
ทั้งนี้ ชาวสวนยางมีมติกันว่าจะจ่ายสมทบ วันละ 1 บาทต่อคน โดยปัจจุบันมีเกษตรกชาวสวนยาง 1.6 ล้านครัวเรือน ถ้ามีผู้สมัครใจประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ก็จะทำให้ปีหนึ่งมีเงินสมทบ 365 ล้านบาท เมื่อนำไปรวมกับเงินจัดสรรดูแลชาวสวนยางซึ่งแบ่งจากเงินเซส 7% หรือประมาณ 420 ล้านบาทที่มีอยู่เดิม จะทำให้มีเงินที่ใช้เป็นสวัสดิการแก่ชาวสวนยางรวมไม่ต่ำกว่า 700 กว่าล้านบาทต่อปี และหากเมื่อชาวสวนยางจ่ายเงินสมทบ มีข้อเสนอต้องการสิทธิเรื่องค่ารักษาพยาบาลและเรื่องได้รับเงินเยียวยาตอนเกิดวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ จ่ายเงินคนกรีดยาง 3,000 บาทต่อครัวเรือน จากเดิมตามระเบียบต้องรอเกษตรกรเสียชีวิตก่อน กยท.ถึงจ่ายเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อครัวเรือน"
นายสุนทร กล่าวว่า นอกจากนี้ ปัญหาคนกรีดยางที่ทำกินในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีประมาณ 2.8 แสนครัวเรือนจำนวน 4.4 ล้านไร่ ที่รัฐจะต้องออกมาช่วยเหลือเพราะกลายเป็นประชาชนชายขอบที่รัฐไม่ดูแล
"สรุป 3 เรื่องที่เสนอคือ การตั้งกองทุนสวัสดิการ การแก้ไขระเบียบ กยท. เพื่อนำเงินจากกองทุนเงินเซสที่ใช้ดูแลเกษตรกรออกมาใช้ และเรื่องการรับรองเกษตรกรสวนยาง คนกรีดยางที่ทำกินในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดนี้ที่น รมช.รับไปพิจารณาภายใน 30 วัน หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลยอีก 30 วัน ผมจะมาอีกที่ทำเนียบฯ กระทรวงเกษตรฯ และที่ การยางฯ"นายสุนทร กล่าว