นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในปี 61 ยังมีความผันผวน โดยช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และครึ่งปีหลังเคลื่อนไหวในกรอบ 31.75-32.25 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทในปี 61 คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 31.75 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี
สาเหตุที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง แต่เป็นการชะลอการแข็งค่าลงจากปีนี้ที่แข็งค่าราว 10% โดยมาจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังกลับมาแข็งค่าได้ไม่มาก หากนักลงทุนผิดหวังจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามที่คาด โดยตลาดคาดว่าจะปรับขึ้น 2 ครั้ง ที่ 0.50% ในปี 61 หรือ ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เงินทุนต่างชาติอาจะไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าได้อยู่
ทั้งนี้มองว่าในปี 61 จะยังเห็นภาพของการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมีอยู่ จากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศที่อาจจะมีปัจจัยต่างๆที่ไม่สามารถคาดเดาได้ออกมาได้ตลอดเวลา โดยยังแนะนำใหมผู้ประกอบการต่างๆทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งธนาคารได้มีโครงการบริการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้ความรู้และช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่เป็นผู้นำเข้าและส่งออก ที่มีรายได้ไม่เกิน 400 ล้านบาท/ปี ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้สามารถเข้าถึงและมีประสบการณ์ป้องกันความเสี่ยง ช่วยให้เอสเอ็มอีรับมือในสภาวะแวดล้อมที่มีความผันผวนสูง และหนุนความสามารถทางการแข่งขัน
ส่วนการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 60 คาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.50-33 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องติดตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในช่วงเดือนธ.ค.นี้ และนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรป เอเชีย และประเทศไทยด้วย
นายตรรก คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี 61อย่างค่อยเป็นค่อยไปมาอยู่ที่ 1.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่จะค่อยๆเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่ากนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศให้มีต้นทุนที่ต่ำ และมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาแข็งแกร่ง ประกอบกับมองว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1% ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายของกนง.จะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 61
นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกอื่นๆที่นักลงทุนจะต้องจับตามองในปี 61 ได้แก่ ความคืบหน้าของมาตรการปฏิรูปของสหรัฐฯ รวมถึงประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะมีผลต่ออัตราการแลกเปลี่ยนและพันธบัตรทั่วโลก, การเจรจา Brexit ระหว่างอังกฤษและ EU, เสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดเงินจีนจะกระทบแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดเงินไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกือบทุกชนิดของไทย ด้วยมูลค่าส่วนแบ่งตลาดกว่า 12% ในปัจจุบัน