ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย.60 อยู่ที่ 78.0 จาก 76.7 ในเดือน ต.ค.60 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 เดือน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 65.2 จาก 64.1 ในเดือน ต.ค.60 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 72.7 จาก 71.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.1 จาก 94.4
สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเสรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 3/60 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส, สภาพัฒน์ ปรับ GDP ปี 60 เป็น 3.9% จากเดิม 3.7% , รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภค (ช็อปช่วยชาติ), คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, การส่งออกในเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 13%
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ, สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่ากครองชีพ และความกังวลสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นั้น จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยคาดว่ามีโอกาสจะเติบโตได้ถึง 4.6-4.7% ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้เติบโตแตะระดับ 4% ได้ พร้อมมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้เริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และคาดว่าในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตจะเริ่มแตะระดับ 100 ซึ่งเป็นค่าของระดับปกติได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 61 นายธนวรรธน์ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ช่วยเอื้อให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ถึง 4% ซึ่งจะเห็นได้จากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ ที่ใช้กับกลุ่มเป้าหมายในระดับกลางขึ้นไป และโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ใช้กับกลุ่มเป้าหมายในระดับฐานราก ซึ่งทั้ง 2 มาตรการนี้เป็นตัวช่วยสนับสนุนบรรยากาศของเศรษฐกิจในอนาคตให้ปรับตัวดีขึ้น และเมื่อรวมกับตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เช่น GDP, การท่องเที่ยว, การส่งออกที่เติบโตอย่างโดดเด่น ก็มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้โตแตะ 4% ได้ ซึ่ง ม.หอการค้าไทย จึงปรับประมาณการ GDP ปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 3.9% "จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายตามมาตรการช็อปช่วยชาติประมาณ 15,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกเดือนละประมาณ 5,000 ล้านบาท 2 ตัวนี้ช่วยกระตุกเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ให้เพิ่มอีก 0.2-0.3% มาเป็น 4.6-4.7% นอกจากนี้ภาคท่องเที่ยว และการส่งออกก็ยังเติบโตได้ดี ซึ่งทำให้รวมๆ แล้วทั้งปีนี้มีความเป็นไปได้มากถึง 75% ที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ถึง 4%" นายธนวรรธน์กล่าว อย่างไรก็ดี จากการสอบถามความเห็นของภาคธุรกิจเอกชน พบว่า ต่างแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีการแข็งค่าของเงินบาทในระดับที่มากกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ และการส่งออกในอนาคต โดยภาคธุรกิจได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ โดยเห็นว่าเงินบาทควรจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์ "ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าเงินบาทในระดับ 32.50-33 บาท/ดอลลาร์ เป็นระดับที่แข็งค่ามากเกินไป จึงขอให้ ธปท.ช่วยดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากไปกว่านี้ เพราะหากสินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้แล้ว ก็จะส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกไทยในปีหน้าได้" นายธนวรรธน์กล่าว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 61 ว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 4.2% แต่ทั้งนี้ก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้ถึง 4.5% เช่นกัน ซึ่งนอกเหนือจากการท่องเที่ยวและการส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญแล้ว หากนโยบายของภาครัฐสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเร่งกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจฐานรากด้วยการตามเม็ดเงินต่างๆ ที่ยังค้างท่ออีกราว 1.5 แสนล้านบาท ทั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับในปี 61 ที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดจากการทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก 5-8 หมื่นล้านบาท รวมกับเม็ดเงินจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกราว 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งรวมเม็ดเงินทั้งหมดแล้วประมาณ 5 แสนล้านบาท ก็จะมีส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปี 61 ให้โตถึง 4.5% ได้ "เศรษฐกิจไทยปีหน้า มีโอกาสจะแตะ 4.5% ได้ง่ายมาก ที่สำคัญถ้ามีการเร่งลงทุนของภาครัฐให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะใน EEC เอกชนก็จะเข้ามาลงทุนได้อย่างรวดเร็วในบริเวณนั้น รวมทั้งการลงทุนเมกะโปรเจ็คท์ต่างๆ ของภาครัฐ ก็จะทำให้ปีหน้าการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาเห็นชัดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นในหลังจากนั้น" นายธนวรรธน์ กล่าว