นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมมาตรการขับเคลื่อน SME สู่ยุค 4.0 ว่า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือและเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์แนะนำมาตราการต่างให้ผู้ประกอบการ SME เกิดความเข้าใจ พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมคัดสรรบุคลากรที่ทีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงไปทำงานในพื้นที่ ให้คำแนะนำกับ SME โดยมอบให้นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เป็นแม่งาน เพราะถือว่านายกรัฐมนตรีแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยมาดูงานด้าน SME โดยเฉพาะ และให้แต่ละหน่วยงานรายงานความคืบหน้าภายใน 3 เดือน
สำหรับมาตรการพิเศษ เพื่อขับเคลื่อน SME ให้เน้นการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะในระดับชุมชน ทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ช่วยกันจัดทำเป็นแพ็คเกจ โดยให้เริ่มดำเนินการทันที รวมทั้งให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ในยุคที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ SMEs Bank ได้เสนอวงเงินเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ SME 70,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากยังมี SME ที่ต้องการเข้าถึงเงินทุนในการเสริมสร้างธุรกิจ จึงได้เพิ่มวงเงินขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท
นายสมคิด กล่าวว่า มาตรการส่งเสริม SME ดังกล่าวไม่ได้มุ่งหวังเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือหวังผลให้ GDP เพิ่มสูงขึ้น เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2561 จะเติบโตได้ดี แต่มาตรการดังกล่าวต้องการทำให้ SME เกิดความเข้มแข็ง เพราะธนาคารของรัฐไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ปล่อยสินเชื่อแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งการมอบนโยบายวันนี้ไม่ได้มีเจตนามาวัด KPI แต่ SME จะเติบโตขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะร่วมมือกัน
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรการความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME จะเน้นการให้ความช่วยเหลือระดับชุมชม หรือ Micro SMEs มากขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว, การเกษตรแปรรูปในชุมชน เป็นต้น มีการส่งเสริมทั้งด้านการเงิน การสร้างทักษะใหม่ การปรับปรุงกลไกการให้ความช่วยเหลือ SME ทั้งระบบด้วยการจัดทำฐานข้อมูล SME ในรูปแบบ Big Data รวมถึงการเชื่อมโยงของ SME ทั้งของไทยและต่างประเทศ
"พร้อมจะนำเสนอในไตรมาสแรกปีหน้า ถือเป็นของขวัญมอบให้กับ SME ในปี 2561" รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับ SMEs ที่มีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง จะมีมาตรการส่งเสริมทั้งมาตรการทางการเงินและมาตรการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามแนวทาง 4.0 สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม)
สำหรับกรอบวงเงินในการสนับสนุน SME ครั้งนี้ นายอุตตม เปิดเผยว่า เตรียมนำเสนอกรอบวงเงินในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน SME ประมาณ 2 แสนล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 200,000 กว่าล้านบาท เกิดการจ้างงานจำนวนมาก แต่หากรวมมาตรการที่ไม่ใช่ทางการเงินนั้นรวมแล้วจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่าล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี มาตรการที่ส่งเสริม SME จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.แพ็กเกจส่งเสริมและช่วยเหลือด้านที่ไม่ใช่การเงิน โดยจะสนับสนุนตั้งแต่วิสาหกิจชุมชน จนถึงผู้ประกอบการระดับขนาดกลาง ทั้งด้านการผลิต การตลาด การส่งเสริมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายให้ SME เกิดความเข้มแข็ง พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและยกระดับขีดความสามารถให้ไปสู่ช่องทางการค้าที่มีอยู่หลากหลาย
ทั้งนี้ ในกระบวนการดังกล่าวจะอาศัยความร่วมมือผ่านการเชื่อมโยงจากหลายๆ หน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีการแบ่งการบริการออกเป็นอีก 4 ด้านคือ
1. Service Upgrading (กลไกสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ) โดยจะเร่งยกระดับการบริการต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) จากเดิมที่เปิดบริการอยู่ 9 ศูนย์ ขยายเป็น 23 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมขยายส่วนบริการเพิ่ม ได้แก่ Co-Working Space เครื่องจักรทันสมัย บริการการปรึกษาเชิงลึกผ่าน Expert Pool (ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ) ที่ปรึกษาทักษะทางการเงิน การเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุน แพ็กเกจคูปองเสริมแกร่งธุรกิจ SME ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการทั่วไป และที่ประสบปัญหากว่า 10,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SME (SME Support Center) ด้วยกลไกและบริการทั้งหมดผ่านระบบดิจิทัลให้เกิดขึ้น 248 แห่งทั่วประเทศ
2. Enablers (การเสริมแกร่ง SME) ด้วยตัวช่วยที่จะบริหารจัดการ การ Transform SME ไปสู่ 4.0 ทั้งนี้ จะเน้นการนำกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีผ่านการสรรหาจากภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ 60 องค์กร มาช่วยแก้ปัญหาธุรกิจ SME โดยเฉพาะในด้านผลิตภาพและมาตรฐาน พร้อมทั้งช่วยเป็นโค้ชในการพัฒนาบุคลากรจากสถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ที่เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีความรู้ความสามารถในด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงการจัดทำแพล์ทฟอร์ม SME Big Data เพื่อให้ผู้ประการเข้าถึงบริการฐานข้อมูล โครงการที่ตรงกับความต้องการการพัฒนาแต่ละด้าน และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่าน SME One Portal ได้ทุกที่ทุกเวลา
3. Capacity Upgrading and Transforming (การเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจ) การพัฒนาขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยกลไกประชารัฐ โดยจะมุ่งเน้นการเชื่อมโยงองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกกว่า 20 ราย เช่น ปตท., เดลต้า, เอสซีจี, เดนโซ่ มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพให้ไปสู่การมีแนวคิดทำธุรกิจแบบสากล พร้อมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงรวมทั้งกองทุนให้เปล่า (Angel Fund) กับกลุ่มสตาร์ทอัพ
นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ (มอก.S) เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับ SME ที่มีมาตรฐาน ตลอดจนการส่งเสริมการใช้แพลทฟอร์ม T-Goodtech (ระบบเชื่อมโยงธุรกิจและผู้ประกอบการไทย) เพื่อช่วยในการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับต้นน้ำ – ปลายน้ำกว่า 1,400 ราย พร้อมเชื่อมต่อสู่แพลทฟอร์ม J-Goodtech ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้สินค้า SMEs ไทยมีความน่าเชื่อถือและขยายตลาดไปสู่ระดับสากลได้มากขึ้น
4. Local Economy (การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน) เป็นนโยบายการยกระดับผู้ประกอบการฐานรากหญ้า พัฒนาสู่ SMEs รากแก้ว โดยจะดึงธุรกิจขนาดใหญ่มาช่วยสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในแต่ละท้องถิ่นตามแนวทางประชารัฐ ให้เดินหน้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ การยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวด้วยโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ททท. และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. พร้อมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก การบ่มเพาะเกษตรกรกว่าร้อยละ 30 ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป เป็นต้น
2.แพ็กเกจส่งเสริมและช่วยเหลือด้านการเงิน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง กลไกนี้จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ SMEs ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ลดข้อจำกัด หลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขบางประการ เพื่อให้สะดวกต่อการพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ ซึ่งได้วางโครงการไว้ 2 รูปแบบ คือ
1. การยกระดับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Development BANK) โดยจะขยายหน่วยบริการทางการเงิน (Mobile Unit) ในระดับจังหวัดให้ครบทุกอำเภอและเขตเศรษฐกิจพิเศษ 905 หน่วย ซึ่ง Mobile Unit จะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำการเตรียมความพร้อมต่างๆ พร้อมทั้งประสานงานและอำนวยความสะดวกกับหน่วยดำเนินการโดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาระดับจังหวัดหรืออำเภอ ทั้งนี้ คาดว่าจะขยายเครือข่ายให้บริการสินเชื่อส่งเสริมพัฒนา SME ได้กว่า 1 ล้านราย พร้อมด้วยวงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท
2. การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการร่างนำเสนอในเบื้องต้นมีแพ็กเกจต่าง ๆ ดังนี้
- SMEs Transformation Loan สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 เพื่อ SME ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรม S-Curve ที่ต้องการลงทุน ปรับปรุง พัฒนาเครื่องจักร รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการผลิต และอาคารที่ตั้งเครื่องจักร
- สินเชื่อ Local Economy Loan เพื่อกลุ่ม SME ในระดับชุมชน อาทิ ธุรกิจเกษตรแปรรูปธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรมที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุน ปรับปรุง และขยายกิจการ
- กองทุนฟื้นฟู MSMEs คนตัวเล็ก เพื่อให้ผู้ประกอบการในระดับรายจิ๋วและรายย่อย (Micro) ที่เข้าถึงสถาบันการเงินได้ยาก โดยจะรองรับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดทั้งมีเงินทุนไม่เพียงพอต่อการดำเนินหรือเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงผู้ที่ต้องการลงทุน ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ