นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า วันนี้มาให้กำลังใจ ซึ่งมองว่า กระทรวงเกษตรฯถือเป็นกระทรวงเกรดเอ โดยขอให้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 10 ที่รับสั่งให้ดูแลประชาชนให้มีความสุข พร้อมทั้งกำชับให้เร่งเครื่องทำงานให้กับเกษตรกรเชื่อจะเห็นผลเปลี่ยนแปลงภายใน 3 เดือน
พร้อมทั้งให้ทางกระทรวงยึดแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ปีหน้าต้องการให้ทางกระทรวงให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็งและทำให้เศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียนได้ ซึ่งจะส่งผลดีให้เศรษฐกิจเติบโตด้วย
“ทุกอย่างต้องเร่งเครื่องออกมา ผมเชื่อ 3 เดือนจะมีการเปลี่ยนแปลง มันต้องดีขึ้นแน่นอน"นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรประมาณ 20-30 ล้านคน แต่มีส่วนร่วมในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง 8-9% เท่านั้น จึงมองเห็นว่ายังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ ทั้งนี้ได้สั่งการให้มีการทำงานบูรณาการร่วมกัน กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม ในระยะเร่งด่วนต้องเร่งแก้ไขปัญหาทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลผลิต สำหรับปัญหาราคายาง ถือเป็นปัญหาสะสมมา 15 ปี เนื่องจากมีการขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผลผลิตล้นตลาด ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นต้องประคองราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และในระยะยาว ต้องมีการหารือกับผู้ประกอบเพื่อทำให้ยางมีมูลค่ามากขึ้น พร้อมทั้งให้มีการส่งเสริมด้านปศุสัตว์ ด้วยการจัดหาโคให้กับชุมชน
สำหรับการแก้ปัญหาเกษตรในระยะกลางและระยะยาว ต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พัฒนาให้เกิด SMEภาคเกษตร ปรับเปลี่ยนให้มีการทำเกษตรแปลงใหญ่ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ และด้านสหกรณ์ จะต้องเร่งสร้างให้มีความเข้มแข็ง โดยไม่จำเป็นต้องรอการอการออกพ.ร.บ. แต่ต้องเดินหน้าไปก่อน โดยเน้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินสหกรณ์ รวมถึงต้องมีการจัดทำฐานข้อมูล Big Data โดยรวบรวมข้อมูลจากหลายๆกระทรวง เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาเกษตรกรได้ตรงจุด
*รมว.เกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาราคายางใน 3 เดือน
ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาราคายางเพื่อทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น โดยจะร่วมกับภาคเอกชนในการรับซื้อยางเพิ่มมากขึ้น เพื่อดูดซับยางออกจากตลาดนอกจากนี้ได้หารือกับกระทรวงคมนาคมที่จะเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐซื้อยางพารา ภายใน 2 อาทิตย์ เพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบในการซ่อมถนน โดยจะให้เพิ่มการซื้อจาก 33,000 ตัน เป็น 50,000-80,000 ตัน
แต่หากมาตรการนี้ยังไม่สามารถทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นจะสั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าไปซื้อยาง โดยยืนยันว่าราคาที่จะรับซื้อจะเป็นราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนแน่นอน ซึ่งปัจจุบันราคายางอยู่ที่ 46 บาท/กก.
“ผมยืนยัน การซื้อขายยางจะไม่ทำให้ชาวสวนยางเดือดร้อน และทำให้ชาวสวนยางไม่ขาดทุน จะเร่งดำเนินการใน 3 เดือน"นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับมาตราการด้านอื่นๆ นั้น จะมีโครงการฝึกอบรมเกษตร ในช่วงนอกฤดูกาลผลิต โดยจะมีการน้อมนำปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง และให้คำแนะนำการทำผลผลิตไปทำการตลาดโดยจะมีเบี้ยเลี้ยงในระหว่างการฝึกอบรมด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ที่มีการขึ้นทะเบียนคนจน ที่มีอยู่ 3 ล้านราย หลังจากมีการตรวจสอบสถานะจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงมหาดไทยแล้ว ทางกระทรวงเกษตรฯจะมีการจัดคลีนิคเข้าไปทำความเข้าใจและให้คำแนะนำในการแก้ไขหนี้สินให้กับเกษตรกรต่อไป โดยเน้นไปยังเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินเป็นจำนวนมาก
*รมช.เกษตรฯ เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือหนี้สินเกษตรกรใน 2 สัปดาห์เป็นของขวัญปีใหม่
นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งจากการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เป็นเกษตร 3.96 ล้านราย ซึ่งทางกระทรวงจะมีแผนบรรเทาหนี้สินและแผนการฟื้นฟูให้เกิดผล จะมีการนำเรื่องนี้มาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. โดยจะจัดทำเป็นมาตรการการให้ความช่วยเหลือออกมาภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะทำงานเชิงรุก จำแนกเกษตรกร 3.96 ล้านรายเป็นรายพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ และจัดหน่วยเคลื่อนที่ในลักษณะคลีนิค เพื่อวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ตรงจุด และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงปีใหม่
“ถ้าเป็นปัญหาหนี้สินนอกระบบ ช่วยเขาเจรจา เพื่อโอนเข้ามาในระบบและผ่อนชำระกับธ.ก.ส. และธ.ก.ส.ต้องไปออกผลิตภัณฑ์เพื่อรับโอนหนี้นี้เข้ามา ถ้าเป็นหนี้ในระบบที่หนัก จะใช้วิธีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และส่วนหนึ่งอาจจำเป็นขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยด้วย ก็เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เพื่อให้เบาตัว เพื่อไม่ให้เขาเดือดร้อนในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน"นายลักษณ์ กล่าว
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า จะมีการทำแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพเป็นรายบุคคล โดยให้ SME เกษตรที่ประสบความสำเร็จ เป็นผู้นำที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนออกมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องใช้เวลา 3-5 ปีเพื่อทำให้เกษตรกรฟื้นตัว โดยมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆด้วย