กรมพัฒน์ฯ นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ความสะดวกภาคธุรกิจ พร้อมก้าวสู่การเป็น “ดิจิทัล ดีพาร์ทเม้นท์"

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday December 10, 2017 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดลำดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing business) ถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการตัดสินใจดำเนินธุรกิจของนักลงทุนชาวต่างชาติ ประกอบกับรัฐบาลได้เห็นความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยอำนวยความสะดวก รวมถึง การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐให้เอื้อต่อการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการประกอบธุรกิจของประเทศ

“กรมฯ ได้ดำเนินภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องและทุกกระบวนการ ตั้งแต่การปรับลดขั้นตอน ลดเวลา และการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้บริการของกรมฯ มีความ “สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย" โดยได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริการขึ้น ตั้งแต่การเชื่อมต่อฐานข้อมูลบัตรประชาชนของกระทรวงมหาดไทยในการตรวจสอบสถานะผู้ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคล และเมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ กรมฯ ได้ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว โดยยกเลิกการเรียกขอสำเนาเอกสารบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบมรณะบัตรในการจดทะเบียน โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตัวตนของผู้ยื่นขอจดทะเบียนจากฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย นับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2560 เป็นต้นมา"

อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่กรมฯ เป็นหน่วยงานจดทะเบียนนิติบุคคลได้ขยายผลการอำนวยความสะดวก ด้วยการให้หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่จดแจ้ง อนุญาต อนุมัติการประกอบการต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลกับกรมฯ เพื่อใช้ในการตรวจสอบสถานะนิติบุคคลได้โดยไม่ต้องขอเอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลจากผู้ยื่นขอดำเนินธุรกรรม โดยได้เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 56 หน่วยงาน เช่น กรมที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานกิจการยุติธรรม ฯลฯ เป็นต้น" ซึ่งส่งผลต่อความรวดเร็ว และ ลดค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคธุรกิจ

“สำหรับการพัฒนากระบวนงานให้บริการ ได้มุ่งเน้นสู่การเป็น “ดิจิทัล ดีพาร์ทเม้นท์" (Digital Department) ที่สามารถให้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา สะดวกต่อความจำเป็นของธุรกิจ เช่น การพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Registration ที่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมีผู้สมัครลงทะเบียนฯ แล้วกว่า 25,000 ราย การให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลและสำเนาเอกสารผ่านธนาคาร หรือ e-Certificate 7 ธนาคาร รวม 4,134 สาขา การบริการขอหนังสือผ่านทางอินเทอร์เน็ต และจัดส่งให้ทาง EMS หรือ Delivery มีผู้ใช้บริการในปี 2560 จำนวนกว่า 355,000 ฉบับ การตรวจค้นข้อมูลนิติบุคคลผ่านทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) และแอพพลิเคชั่น DBD e-Service ตั้งแต่ปี 2557 - 2560 มีผู้ตรวจค้นมากกว่า 4,500,000 ครั้ง

นอกจากนี้ กรมฯ ได้พัฒนาระบบการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิสก์ หรือ DBD e-Filing ตั้งแต่ปี 2558 จากจำนวนธุรกิจที่จัดส่งงบการเงินประจำปีกว่า 500,000 ราย โดยภาคธุรกิจได้ดำเนินการส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing จำนวนร้อยละ 90 คงเหลืออีกเพียงร้อยละ 10 ที่ยังคงจัดส่งงบการเงินแบบกระดาษ ซึ่งในรอบปีบัญชี พ.ศ. 2560 มีนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินประมาณ 620,000 ราย โดยต้องจัดส่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 กรมฯ จึงขอความร่วมมือให้นิติบุคคลเร่งจัดทำงบการเงิน โดยจัดประชุมผู้ถือหุ้นและเร่งนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากจัดส่งใกล้ระยะเวลาสิ้นสุด อาจทำให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความหนาแน่นและเกิดความล่าช้าในการจัดส่ง อีกทั้งการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็วจะส่งผลดีต่อการประมวลผลสถานะของงบการเงินของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกรรม โดยเฉพาะสถาบันการเงินสามารถตรวจสอบสถานะของธุรกิจที่เป็นปัจจุบันทำให้ง่ายต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการให้จัดช่องทางเร่งด่วนแก่ผู้ที่ส่งงบการเงินประจำปีโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากรเพื่อให้ใช้งบการเงินจากฐานข้อมูลเดียวกัน

ในปี 2561 กรมฯ จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาให้ผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจสามารถจองชื่อ นิติบุคคลผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่น (Mobile Application) ส่วนการให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลจะได้มีการพัฒนาเพื่อรองรับ AEC ในการออกหนังสือรับรอง 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ และจะสร้างนวัตกรรมการให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปใช้เป็นไฟล์แนบการยื่นจดแจ้ง อนุมัติ อนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องพัฒนาการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบายรัฐบาล e-Government ทำให้สะดวกในการตรวจสอบ การจัดเก็บเอกสาร ลดการใช้กระดาษและลดพื้นที่จัดเก็บ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ