นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอบทความเรื่อง เงินบาทกับเศรษฐกิจไทย ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งการส่งออกสินค้าและรายรับจากการท่องเที่ยว แม้เศรษฐกิจในประเทศเองจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน แต่โดยเปรียบเทียบแล้ว ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่ากันมาก จนนักเศรษฐศาสตร์บางท่านเรียกเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า เป็นเศรษฐกิจที่แข็งนอกอ่อนใน ดังนั้น หากค่าเงินที่แข็งทำให้การส่งออกสินค้าสะดุดติดขัดขึ้นมา ย่อมมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกแต่ละชนิดมีความสามารถในการรองรับค่าแข็งค่าของเงินบาทได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าในตลาดส่งออกของแต่ละสินค้า ตัวอย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนของชิ้นส่วนประกอบนำเข้าสูง เงินบาทที่แข็งขึ้นช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าในรูปเงินบาทลดลง ทำให้สุทธิแล้วไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่แข็งขึ้นมากนัก
ขณะที่สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีสัดส่วนการนำเข้าน้อยมากหรือไม่มีเลย ไม่นับว่าผู้ส่งออกใน 3 หมวดหลังนี้มีการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนน้อยมาก รวมถึงไม่มีอำนาจต่อรองราคา
"สินค้า 3 หมวดนี้จึงมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษกับค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี เมื่อไปดูข้อมูล 10 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปของเงินบาทของสินค้าทั้ง 3 หมวดขยายตัว 18% 9% และ 0.2% ตามลำดับ โดยสาเหตุหนึ่งที่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวต่ำเกิดจากการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า"
โดยสรุป ความต้องการจากต่างประเทศช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นได้ แม้กระทั่งหมวดสินค้าที่อ่อนไหวกับค่าเงินเป็นพิเศษ ในภาพรวมก็ยังไปได้ดี อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้สูงว่า หากค่าเงินบาทอ่อนกว่านี้ การส่งออกสินค้าในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวได้มากกว่านี้และแม้ในกรณีที่ส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐไม่ได้เพิ่มขึ้น รายได้ของผู้ส่งออกในรูปของเงินบาทก็ยังมากขึ้น
นายดอน กล่าวต่ออีกว่า การที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าหลายสกุลเงินสามารถอธิบายได้จากขนาดของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการหักด้วยรายจ่ายในการนำเข้าสินค้าและบริการ) ของไทยที่อยู่ในระดับที่สูง ซึ่งมาจากความสามารถในการขายสินค้าและบริการของเรา ประกอบกับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ออกมาเกินความคาดหมายของนักลงทุนต่างประเทศ
"ทั้ง 2 ปัจจัยนำไปสู่ความต้องการแลกเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท เป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเพิ่มเติมจากปัจจัยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าซึ่งเป็นปัจจัยหลัก"
ทั้งนี้ ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่สูงมาก นอกจากจะสะท้อนความต้องการเงินบาทที่สูง(ผู้ประกอบการต้องเอาเงินตราต่างประเทศที่เหลือจากรายได้หักด้วยรายจ่ายมาแลกเป็นเงินบาท) ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นแล้ว ยังเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ในแง่ที่ว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ของไทย ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี รวมกันประมาณ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 39.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำเกือบที่สุดในภูมิภาค และเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield curve) ของไทยต่ำกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ โดยเฉพาะดอกเบี้ยรายวันไม่ได้จูงใจให้เงินไหลเข้ามามากเหมือนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยในประเทศสูง
นายดอน กล่าวว่า การยึดกลไกตลาดไม่ได้หมายความว่า ธปท. นั่งมองเงินบาทแข็งค่าโดยไม่ได้ทำอะไรเลย ในทางตรงกันข้าม ปีนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ปัจจัยภายนอกทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง ธปท. ได้เข้าดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ สะท้อนได้จากปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากต้นปีประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการลดการออกพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติที่เก็งกำไรค่าเงินบาทนิยมมาพักเงิน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560
นอกจากนี้ ตลอดทั้งปี ธปท. ได้มีการให้ความรู้และกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท รวมถึงร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ในโครงการช่วยเหลือค่าธรรมเนียมสำหรับเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงินให้กับ SMEs ที่เข้าคุณสมบัติ
สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลง ตามแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสูงขึ้น และทำให้ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางค่าเงินบาทมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเพียงปัจจัยเสริม ผู้ประกอบการจึงควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในด้านที่มิใช่ราคา ซึ่งเป็นวิธีรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในระยะยาว