นายปรีชา สุขบุญพันธ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากที่ต้องแบกภาระราคาไข่ไก่ต่ำกว่าทุนต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ตลอดทั้งปีนี้ราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มไม่เคยสูงกว่าต้นทุนที่ฟองละ 2.80 บาท โดยปัจจุบันราคายังตกต่ำขายได้เพียงฟองละ 2.10 บาท เชื่อว่าต้นทุนที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาสูงต่อเนื่อง แม้ว่าอยู่ในช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยเดือนกันยายนราคายืนอยู่ที่ 8.00 บาท/กก. แต่ขณะนี้ถึงเดือนธันวาคมผลผลิตลดลงราคาสูงขึ้นอีกเป็น 9.00 บาท/กก. และผู้เลี้ยงยังไม่สามารถซื้อข้าวโพดตามจำนวนความต้องการมาใช้ได้ เนื่องจากพ่อค้าขอขึ้นราคาทุกครั้ง
"เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ต่างได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงมานานแล้ว จึงออกมาเรียกร้องรัฐให้ช่วยทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนเกษตรกรไทยทุกกลุ่ม วันนี้เกษตรกรหวั่นวิตกว่าจะไม่สามารถแบกภาระปัญหาดังกล่าวได้ หากสถานการณ์ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีก็อาจต้องเลิกอาชีพที่ทำมานาน ซึ่งจะกระทบกับภาวะราคาในอนาคต" นายปรีชา กล่าว
ด้านนายวีระ ป้อมสุวรรณ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคกลางตอนบนเพื่อการค้า กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งเรื่องปริมาณผลผลิตในประเทศที่มีมากเกินกว่าความต้องการบริโภค เกิดภาวะหมูล้นตลาด พ่อค้าคนกลางกดดันราคา เกษตรกรจำเป็นต้องขายต่ำกว่าทุนติดต่อมานานกว่า 6 เดือนแล้ว และยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายวีระ กล่าวว่า ทุกวันนี้ราคาขายสุกรขุนหน้าฟาร์มตกต่ำอยู่ที่ประมาณ 48 บาท/กก. ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่พุ่งสูงถึง 58 – 60 บาท/กก. ต้นทุนที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น จากกลไกการตลาดที่ถูกบิดเบือนจากมาตรการประกันราคารับซื้อข้าวโพดที่กิโลกรัมละ 8 บาททั้งปี และการให้นำเข้าข้าวสาลีเพื่อทดแทนผลผลิตข้าวโพดที่ไม่เพียงพออยู่แล้ว ยังติดขัดข้อกำหนดมาตราการควบคุมที่ต้องชื้อข้าวโพด 3 ส่วนเพื่อนำเข้าข้าวสาลีเพียง 1 ส่วน ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์จำเป็นต้องซื้อข้าวโพดในราคาสูง และยังไม่สามารถซื้อข้าวสาลีซึ่งเป็นอีกทางเลือกช่วยทดแทนการขาดแคลนข้าวโพดในประเทศ เกษตรกรภาคปศุสัตว์จึงขอให้รัฐพิจารณาช่วยผ่อนคลายจากปริมาณไม่เพียงพอ และถูกจำกัดโดยไม่มีทางเลือก ซึ่งจะช่วยเกษตรกรจัดการต้นทุนให้อยู่ได้ และรองรับสภาวะราคาสินค้าตกต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
"อยากเรียกร้องให้รัฐบาล และกรมการค้าภายในที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เร่งทบทวนผลกระทบจากมาตรการประกันราคารับซื้อข้าวโพด และการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์บ้าง เช่นเดียวกับที่ได้ช่วยดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมาตลอด" นายวีระ กล่าว