ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนพ.ย. ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.1 จากเดิมที่ระดับ 45.9 ในเดือนต.ค. และดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.6 จากเดิมที่ระดับ 46.4 ในเดือนก่อนหน้า
สำหรับมุมมองของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนพ.ย. 2560 ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาในช่วงก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟูครัวเรือนเกษตรผู้ประสบภัยหลังน้ำลดครัวเรือนละ 3,000 บาทในช่วงเดือนพ.ย. ซึ่งช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนเกษตรได้บางส่วน รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างการให้วงเงินใน ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ในการชำระค่าสินค้าและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งก็ช่วยลดภาระค่าครองชีพของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยได้บางส่วน ในขณะที่มาตรการช็อปช่วยชาติที่มีผลบังคับใช้ในช่วงวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค 2560 ก็ส่งผลต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนใน 2 มิติ ได้แก่ (1) มิติทางด้านราคาสินค้าที่ถูกลงจากการที่ผู้ผลิตเพิ่มโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นในช่วงที่มีมาตรการช็อปช่วยชาติ และ (2) มิติทางด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ของครัวเรือนบางส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการในช่วงมีมาตรการช็อปช่วยชาติ นอกจากนี้ มุมมองของครัวเรือนที่ดีขึ้นยังเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่เกิดอุทกภัยและฝนตกชุกในหลายพื้นที่ของประเทศซึ่งเป็นปัจจัยกดดันภาคเกษตรและภาคค้าขายในเดือนก่อนหน้า
สำหรับมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนธ.ค. 2560 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนได้เร่งใช้จ่ายสำหรับปีใหม่ไปบ้างแล้วในช่วงที่มีมาตรการช็อปช่วยชาติ ซึ่งน่าจะทำให้ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ไม่เพิ่มขึ้นมากอย่างในปีก่อนๆ ที่มีมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงปีใหม่ ในขณะที่สถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าคาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ผลิตเร่งออกโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนหลังมาตรการช็อปช่วยชาติหมดไป แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่อาจจะเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรในระยะข้างหน้า
เมื่อมองไปในช่วง 3 เดือนข้างหน้า มุมมองของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากประเด็นทางด้านรายได้ เงินออม และค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เป็นสำคัญ เนื่องจากครัวเรือนส่วนใหญ่คาดหวังการปรับขึ้นค่าจ้าง/เงินเดือนประจำปี รวมไปถึงการได้รับค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) จากนายจ้าง นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว จึงทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาระค่าใช้จ่ายจะไม่สูงเท่ากับช่วงสิ้นปี
ทั้งนี้ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนพ.ย. และดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากประเด็นร่วมทางด้านรายได้และการมีงานทำ น่าจะช่วยหนุนการใช้จ่ายของครัวเรือนให้เพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2561
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของครัวเรือนทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดในประเด็นเรื่องมาตรการ/นโยบายของภาครัฐที่ครัวเรือนคาดหวังในปี 2561 พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลคาดหวังมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมากที่สุด รองลงมาคือ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรการส่งเสริมการออมวัยเกษียณตามลำดับ ในขณะที่ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดส่วนใหญ่คาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรมากที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รองลงมาคือ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามลำดับ ทั้งนี้ ครัวเรือนยังคงต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 ของกระทรวงการคลังที่คาดว่าจะประกาศออกมาในช่วงต้นปี 2561 รวมถึงการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างที่อาจจะมีส่วนช่วยภาระค่าครองชีพของครัวเรือนบางส่วนได้