ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบสุดท้ายของปี 2560 ในวันที่ 20 ธ.ค. 60 จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินคงรอติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศให้มีความชัดเจนมากขึ้นก่อนที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงิน โดยแม้ว่าภาพรวมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 มาจากแรงสนับสนุนจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลักในขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในประเทศยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก
โดยการลงทุนภาคเอกชนเพิ่งอยู่ในระยะแรกเริ่มของการฟื้นตัว ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันด้วยราคาสินค้าเกษตร ท่ามกลางหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมองไปข้างหน้าภาพการใช้จ่ายในประเทศน่าจะปรับดีขึ้นตามมาตรการของภาครัฐ ดังนั้น การคงนโยบายผ่อนคลายต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีภาพการฟื้นตัวที่ขยายออกไปเป็นวงกว้างและมีความสมดุลระหว่างปัจจัยในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น
พร้อมคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.50% ไปอีกช่วงหนึ่ง ทั้งนี้ แรงกดดันต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสหรัฐฯ ยังคงมีไม่มากในปัจจุบัน ท่ามกลางปัจจัยเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดสามารถเกินดุลในระดับเกือบ 10% ของจีดีพีในปีนี้และปีหน้า อีกทั้งระดับการพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายนอกประเทศของไทยอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ วัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของช่วงการขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งเงินเฟ้อยังคงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงต้องรอพัฒนาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เต็มที่กว่านี้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะมีผลให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสที่จะลากยาวออกไปคงได้แก่ ปัจจัยความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจจะส่งผลต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกระทบกลับมายังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ส่วนผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่น่าจะส่งผลต่อเงินทุนไหลออก รวมทั้ง ผลต่อสภาพคล่องในตลาดการเงินไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (เฟด) รอบล่าสุดในเดือน ธันวาคม 2560 เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ รวมทั้งยังคงส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งในปี 2561 เช่นเดิม ซึ่งผลการประชุมเฟดดังกล่าว คงไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกระแสเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญเนื่ องจากตลาดได้รับรู้ข่าวสารไปมากแล้ว แต่อาจจะส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรไทยคงจะปรับลดลงจากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ ที่คงจะปรับแคบลง และคงช่วยลดแรงกดดันที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปได้ส่วนหนึ่ง อันเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (ปัจจัยที่หนุนให้ดอลลาร์ฯ อ่อนค่าในช่วงนี้อาจจะยังมีอยู่จากแรงกดดันด้านการเมืองสหรัฐฯ รวมทั้ง คาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้นอาจจะทิ้งช่วงยาวออกไปถึงกลางปี 2561)
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินสหรัฐฯ ในทิศทางขาขึ้นคงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัดผ่านต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นในบางภาคส่วน โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร ขณะที่ผลกระทบต่อต้นทุนการเงินโดยรวมของไทยอาจจะมีไม่มาก เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังคงอยู่ในระดับสูงโดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) อยู่ในระดับประมาณ 90% อันเพียงพอต่อการสนับสนุนการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในปี 2561
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนคงอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน ท่ามกลางภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงสดใส นอกจากนี้ประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายๆประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว
"คาดว่า กนง.จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม กนง. รอบสุดท้ายของปี เนื่องจากภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเกิดขึ้นไม่เต็มที่ ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คงพึ่งพาแรงหนุนจากการลงทุนมากขึ้น ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงน่าจะเป็นแรงส่งที่ดีในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ทั้งนี้ แรงกดดันต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสหรัฐฯ ยังคงมีไม่มากเนื่องจากเสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่งและความต้องการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากนอกประเทศในระดับต่ำ ทำให้ กนง. สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่องอีกระยะ" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ