นายมานะ ตรียาภิวัฒน์ คณะบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอกากรค้าไทย มองแนวโน้มภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัลปี 2561 โดยคาดว่าจะมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหลายช่องที่ได้กลุ่มทุนใหม่เข้ามาลงทุน อาจจะลงทุนในการผลิตเนื้อหารายการที่มีคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี การลงทุนต้องคำนึงถึงประโยชน์ในระยะยาวต่อคนดูด้วย เพราะการทำรายการดึงเรทติ้งระยะสั้น อาจจะไม่มีประโยชน์ต่อการลงทุนในระยะยาว
สำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัลในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ซึ่งสาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการประมูลทีวีดิจิทัลอยู่ในระดับราคาที่สูงมาก ทำให้ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้วไม่สามารถมีรายได้มาชดเชยต้นทุนได้ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปจากในช่วงก่อนที่มีการประมูลอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อมีการการขยายโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมที่กว้างขวางทั่วถึงมากขึ้น ผู้คนจำนวนมากสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากสื่ออื่นได้มากกว่าการดูโทรทัศน์ เม็ดเงินโฆษณาจึงย้ายไปอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นแทน ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นแก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล
นายมานะ กล่าวว่า ความพยายามของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบางส่วน ที่เรียกร้องให้รัฐออกมาตรการให้ความช่วยเหลือด้วยการงดจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลือ, การคืนใบอนุญาต หรือช่วยสนับสนุนต้นทุนในการเช่าโครงข่ายออกอากาศนั้น มองว่าแนวทางที่ผู้ประกอบการเสนออาจช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น เพราะหากเปิดช่องให้คืนใบอนุญาตได้คงมีการคืนหลายช่อง แต่สังคมจะตั้งคำถามว่าเงินรายได้เข้ารัฐที่ตั้งเป้าไว้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะรับผิดชอบหรือไม่ หรือจะให้สถานีรับผิดชอบเอง หากผู้บริหารจะใช้อำนาจพิเศษตัดสินใจเรื่องนี้ต้องตอบสังคมให้ได้
"ต้นทุนที่ลงไปค่อนข้างมาก ช่วงต้นของการประมูลทีวีดิจิทัลไม่มีบุคลากรโดยตรง จึงมีการดึงตัวจากสถานีที่มีบุคลากรไปโดยคิดว่าจะสร้างความนิยมในการดูทีวีได้ ทำให้ต้นทุนด้านบุคลากรสูงตามขึ้นไปอีก เมื่อการดูทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ รายได้ที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ตามคาด คนดูก็น้อยลง ยังไม่นับบริการโอทีทีที่เกิดการจากผลิตของผู้ผลิตคอนเทนท์และบริการสตรีมมิ่งทีวีที่มาจากต่างประเทศยิ่งทำให้ทีวีดิจิทัลใน 2-3 ปีข้างหน้าจะต้องเหนื่อยหนักขึ้นไปอีก"นายมานะ กล่าว
พร้อมระบุว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการทีวีดิจทัลมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะที่ผ่านมา การลงทุนพัฒนาคุณภาพรายการน้อยลง แต่กลับให้ความสำคัญกับการทำรายการเรียกเรทติ้งมากกว่า หลายสถานีปรับรูปแบบรายการไปในแบบที่เชื่อว่าจะมีคนดูเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอคลิปที่มียอดคนชมจำนวนมากในโซเชียลมีเดียมาพิพากษ์วิจารณ์ หรือการเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อและไสยศาสตร์มาดึงคนดู เมื่อรูปแบบรายการออกมาคล้ายๆ กัน คนที่ดูทีวีโดยต้องการคุณภาพของรายการ จึงออกไปหาทางเลือกอื่น เช่น ทีวีออนดีมานด์ สตรีมมิ่งทีวี หรือบริการคอนเทนท์จากต่างประเทศ
"การอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงสำหรับระดับผู้ปฎิบัติไม่มีปัญหา เพียงแต่ปรับตัวและทำงานตามนโยบายของแต่ละสถานี ส่วนระดับบริหารต้องคิดว่าจะปรับตัวระยะสั้นด้วยการทำรายการเรียกแต่เรทติ้ง มีแต่รายการ หรือจะวางแผนระยะยาว มีกลุ่มเป้าหมายที่ระยะยาวแล้วทำรายการตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ กลุ่มเป้าหมายที่แต่ละสถานีมองอาจไม่ใช่คนดูจำนวนมากเหมือนการสื่อสารมวลชนในยุคก่อน แต่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะบางกลุ่ม หากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่มีพลังสามารถดึงผู้สนับสนุนรายการเข้ามาได้ โอกาสจะได้กำไรสูงๆ เหมือนในอดีตคงไม่เกิดขึ้นอีก อยู่ที่ว่าจะช่วยทำรายการที่มีเนื้อหาทำให้คนกลับมาดูทีวีมากขึ้น หรือดูเนื้อหาของสถานีผ่านแพลตฟอร์มอื่นมากขึ้น"นายมานะ กล่าว