BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 32.45-32.70 คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย-จับสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 18, 2017 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.45-32.70 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.54 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 32 เดือน หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 2.0 พันล้านบาท แต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 1.75 หมื่นล้านบาท ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับเงินเยนแต่แข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยูโร หลังเฟดลงมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาดและคงประมาณการแนวโน้มดอกเบี้ยสำหรับปีต่อๆ ไปตามเดิม แม้เฟดคาดว่านโยบายลดภาษีของรัฐบาลทรัมป์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้นก็ตาม ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษคงดอกเบี้ยตามคาด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ กล่าวว่า ปัจจัยชี้นำสำคัญอยู่ที่ความคืบหน้าแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าสภาคองเกรสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายภาษีภายในสัปดาห์นี้ รวมถึงแรงซื้อดอลลาร์ช่วงใกล้สิ้นปีอาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้างในระยะสั้น ส่วนภาพรวมปริมาณธุรกรรมการลงทุนในตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มเบาบางลงก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส ทั้งนี้ จากการประชุมเฟดรอบสุดท้ายของปีนี้ เฟดคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2561 และอีก 3 ครั้งในปี 2562 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายน

อย่างไรก็ดี แม้เฟดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับต่ำมาก แต่เฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายต่อไป สนับสนุนมุมมองที่ว่าเฟดไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเราคาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2561 ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในปี 2561 และเงินบาทจะแข็งค่าในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีนี้ หากการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงเติบโตได้ดีซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดนำเข้าและลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยลงได้บ้าง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ธันวาคม โดยกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์คาดว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ขณะที่นักลงทุนจะจับตาความเห็นของทางการเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทรอบล่าสุด รวมถึงการประเมินทิศทางภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อจับสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ