นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ร่วมกับ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ดียิ่งขึ้น โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าว
โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.เพิ่มหลักเกณฑ์เรื่อง “รายได้" กำหนดนิยามลักษณะของ SME สอดคล้องกับการเจริญเติบโตและลักษณะของการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
2.ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริม) และคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดบริหาร) ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่มีภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของ SME ไทย รวมถึงเป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องกับกิจการ สสว.โดยตรง
ทั้งนี้ บอร์ดส่งเสริมฯ มีการแก้ไขโครงสร้างเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยให้ตำแหน่ง “รองประธาน" มาจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายแทนตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม รวมถึงเพิ่มตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นกรรมการภาคเอกชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีจากกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้าน SME
สำหรับบอร์ดบริหารฯ กำหนดให้ตำแหน่งประธานมาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับ SME จากเดิมเป็นตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมพัฒนาการค้า อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
3.เพิ่มอำนาจหน้าที่ของบอร์ดส่งเสริมเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SME จัดทำงบประมาณด้าน SME โดยบูรณาการความร่วมมือกัน เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกัน และบอร์ดส่งเสริมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานร่วมด้วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และ 4.เพิ่มวัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของ สสว.ในการประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้มีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SME ช่วยในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ให้ SME มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ไทยมีจำนวน 3 ล้านราย คิดเป็น 99.7% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ และกลุ่ม SME มีการจ้างงานเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจเกือบ 12 ล้านราย คิดเป็น 78.5% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ประกอบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเอสเอ็มอี (GDP SME) ขยับเป็น 42.6% ของ GDP ประเทศ คิดเป็นมูลค่า 1.62 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ SME ต่อภาวะเศรษฐกิจไทย
ดังนั้นการปรับปรุงกฎหมายมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือ SME ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก โดยผ่านกลไกของภาครัฐ ซึ่งบอร์ดทั้งสองคณะจะมีโครงสร้างใหม่ที่มีหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวข้อง SME เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อาทิ การเพิ่มตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. มองว่าเป็นองค์กรบทบาทสำคัญพิจารณาข้อมูลภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเงินการคลังของประเทศ จึงช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้เพิ่มอำนาจให้บอร์ด สสว. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำงบประมาณด้าน SME บูรณาการร่วมกันให้ไปในทิศทางเดียว เพื่อช่วยกันขับเคลื่อน SME ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับการเพิ่มหน้าที่ สสว. ให้ประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง SME ไทยควบคู่ไปด้วย