นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)ว่า ได้กำชับ กทท.ให้ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตามแผนงานที่จะเปิดประมูลในปี 61 เพราะท่าเรือแหลมฉบังมีความสำคัญมากในการสนับสนุนเขตอุตสาหกรรมสำหรับอนาคตของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยตั้งเป้าหมายให้ท่าเรือแหลมฉบัง เติบโตขึ้นเป็นอับดับสอง
ปัจจุบัน กทท.มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือมีปีละกว่า 9 ล้านทีอียู โดยท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ประมาณ 1.5 ล้านทีอียู ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ประมาณ 7 ล้านทีอียู แต่จากปริมาณตัวเลขการส่งออก ในช่วง 3-4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่ค่อนข้างสูง และคาดว่าในปีหน้าปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออก จะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก ดังนั้น กทท.จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาโครงการต่างๆ
สำหรับท่าเรือกรุงเทพ ได้จำกัดปริมาณตู้สินค้าไว้ที่ 1.5 ล้านทีอียู แต่เนื่องจากกรุงเทพฯ จะพัฒนาเป็นเมืองสำหรับที่อยู่อาศัย เมืองธุรกิจ ในอนาคต โรงงานต่างๆ จะต้องย้ายออก ดังนั้นต้องพิจารณาลดปริมาณตู้สินค้าลงอีกเพื่อลดความแออัดด้านการจราจรของรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งมีรถบรรทุกเฉลี่ยวิ่งเข้าท่าเรือกรุงเทพถึง 3 ล้านเที่ยวต่อปี หรือประมาณ 10,000 เที่ยวต่อวัน นอกจากนี้ยังสามารถนำพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมาใช้สำหรับเชิงพาณิชย์อื่นๆ หรือเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับคนกรุงเทพด้วย
นอกจากนี้ให้ กทท.ศึกษาแนวทางในการรับบริหารท่าเรือชายฝั่งของ กรมเจ้าท่า ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ไม่มีผู้บริหาร เนื่องจากที่ดินก่อสร้างเป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีระเบียบการใช้พื้นที่ ซึ่งคิดส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่ 50% ทำให้ยังไม่มีผู้เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหากกทท.สามารถหาวิธีการที่จะรับ มาบริหารจัดการได้เช่นเดียวกันกับท่าเรือเชียงแสน ระนอง จะทำให้สามารถบริหารจัดการเดินเรือชายฝั่ง ที่เป็นฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังได้ ซึ่งจะช่วยปริมาณการขนส่งทางถนนลงได้อีกมาก