นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นหนึ่งในเป้าหมายรวมของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยการมีระบบเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างสรรค์คุณค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งกระจายฐานการผลิตและการให้บริการสู่ภูมิภาคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
สำหรับมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 นั้น แบ่งเป็น 2 ชุดมาตรการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้การช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยชุดมาตรการด้านการเงิน จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น วงเงินรวม 2.45 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับเอสเอ็มอี – คนตัวเล็ก โดยจะใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ จำนวน 8 พันล้านบาท รวมกับวงเงินจากมาตรการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจพัฒนาเอสเอ็มอี ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จำนวน 2 พันล้านบาท รวมเป็น 1 หมื่นล้านบาท ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยที่เป็นนิติบุคคลและมีปัญหาทางการเงิน เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลจะชดเชยให้เอสเอ็มอีแบงก์ไม่เกิน 3 พันล้านบาท
โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 7 ปี ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน เพื่อเป็นเงินทุนขยาย ปรับปรุงกิจการ ควบคู่กับเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจ 10 S-Curve ที่ต้องการยกระดับ ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน ไม่เกิน 3.39 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1.65 แสนล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการให้สามารถเข้าถึงแหล่เงินทุนเพื่อใช้ในการทำธุรกิจในปี 2561 แบ่งเป็น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท, ธนาคารออมสิน วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท, ธนาคารกรุงไทย วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) วงเงิน 5 พันล้านบาท
“มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 นั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างน้อย 5.73 แสนราย รวมทั้งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น 5.1 หมื่นราย โดยมีวงเงินภายใต้มาตรการด้านการเงินรวม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน 1.67 แสนราย และวงเงินจากธนาคารรัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่ร่วมด้วยอีก 1.65 แสนล้านบาท รวมเป็น 2.45 แสนล้านบาท และทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3.7 แสนล้านบาท" นายสมชาย กล่าว
สำหรับมาตรการด้านการส่งเสริมพัฒนา ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านที่ไม่ใช่การเงิน ตั้งแต่ระดับฐานรากที่เป็นวิสาหกิจรายย่อยจนถึงวิสาหกิจระดับกลางทั้งในด้านการผลิต การตลาด นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1. การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน (Local Economy) เพื่อสร้างงาน สร้างโอกาสเศรษฐกิจราก ภายใต้โครงการอุตสาหกรรม สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ชุดชน โดยการส่งต่องานของสถานประกอบการในพื้นที่ให้กับวิสาหกิจชุมชน และการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวภายใต้โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภายใต้โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปตามแนวประชารัฐ
2. การปฏิรูปกลไกส่งเสริมช่วยเหลือและให้บริการต่อ ผ่านการขยายบริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมไปยังพื้นที่ภูมิภาคทั่วประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3. การสร้างระบบแวดล้อมที่สนับสนุนการพัฒนาเอสเอ็มอี ผ่านการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลเอสเอ็มอีภายใต้โครงการจัดทำ SME Big Data เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ การพัฒนาพี่เลี้ยงในลักษณะโค้ช เพื่อเป็นตัวช่วยในการขยายผลการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอี ภายใต้โครงการ Train the Coach Accelerator 4.0 และ 4. การเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนการพัฒนาเอสเอ็มอีโดยอาศัยความร่วมมือจากบริษัทและสถาบันวิจัยชั้นนำของไทยและต่างประเทศผ่านกลไกประชารัฐ ภายใต้โครงการ Big Brothers และการผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก ภายใต้โครงการ Digital Value Chain การพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการด้านการเงิน ภายใต้โครงการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน โดยอาศัยความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย ธนาคารรัฐ เป็นต้น และ การส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ภายใต้โครงการ SMEs Standard Up