ม.หอการค้า เผยปี 61 ไทยเข้ายุคเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบประเมินมูลค่า 3.15 ล้านลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 19, 2017 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 61 ประเทศไทยจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลเต็มรูปแบบ โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 19.42% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่มีมูลค่า 16.26 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี และคาดว่าปี 63 จะขยับสัดส่วนขึ้นเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพี

ปัจจัยสนับสนุนให้เติบโตมาจากนโยบายของรัฐบาล ทั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน, นโยบายไทยแลนด์ 4.0, ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ประกอบกับทิศทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญเรื่องดิจิตอล จากแนวโน้มของเศรษฐกิจในปีหน้าขยายตัวเกิน 4%

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่น่ากังวลของการก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล คือ ความน่าเชื่อถือในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัย, โครงข่ายของการให้บริการอินเตอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม, การหลอกขายสินค้าและบริการ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการค้าออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ หากดำเนินการได้จะยิ่งทำให้เติบโตได้ดี

"ประเทศไทยถือว่าก้าวเข้าสู่ระบบ 4G อย่างรวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพ เห็นได้จากการใช้อินเตอร์เน็ต การเข้าสู่ข้อมูลเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นต่างๆ มีความรวดเร็วมากขึ้น และยังสะท้อนได้จากการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้นทุกปี มียอดขายปะมาณ 2-3 ล้านล้านบาท และหากเทียบสัดส่วนต่อจีดีพีในระยะ 2 ปีข้างหน้า หรือปี 63 อาจจะอยู่ที่ 25% หรือ 1 ใน 4 ของจีดีพี ดังนั้นช่องทางการขายสินค้าทางออนไลน์จะมีส่วนสำคัญมากขึ้น ประกอบกับ การลงทุนของภาครัฐในปีหน้าประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท การขยายตัวเศรษฐกิจดีขึ้น การซื้อขาย จับจ่ายก็จะมีมากขึ้นด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว

ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า จากการสำรวจการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวัน ระหว่างวันที่ 20 พ.ย.– 6 ธ.ค.60 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,251 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 90.92% มีการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือมากเป็นอันดับ 1 ส่วนอีก 57.58% ใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค, อีก 49.03% ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และระยะเวลาที่ใช้อินเตอร์เน็ตต่อวันเฉลี่ยมากกว่า 10 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ใช้งานอินเตอร์มักจะใช้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารรายวัน, ดูแผนการจราจร, แผนที่นำทาง, อัพโหลด ดาวโหลดมากขึ้น ส่วนที่ใช้อินเตอร์เน็ตน้อยที่สุด คือ ใช้เพื่อการจองรถขนส่ง หรือจองรถเพื่อการเดินทาง อย่างไรก็ตาม พบว่า มีผู้ตอบถึง 80.57% ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการซื้อสินค้า, อีก 42.81% ใช้ดูรีวิวสินค้า ซื้อเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนใช้เทคโนโลยีเพื่อจองบัตรดูภาพยนตร์น้อยที่สุดอยู่ที่ 16.37% ซึ่งแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ