นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า การจัดงานสัมมนา "การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ" ในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็นและนำเสนอมุมมองต่างๆ ทั้งด้านศักยภาพและโอกาสการพัฒนาการออกแบบ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานองค์กรพันธมิตรต่างๆ เช่น สมาคมเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์และCenter of Robotics Excellence (CORE) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน
ทั้งนี้ภายในงานบีโอไอได้มีการนำเสนอข้อมูลการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ซึ่งปัจจุบันได้ขยายขอบข่ายประเภทกิจการที่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนให้กว้างขึ้น ตลอดจนกำหนดให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับโครงการที่มีการใช้ระบบอัตโนมัติที่มีการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศ
ปัจจุบันบีโอไอให้สิทธิประโยชน์ครบทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้โดยในส่วนของผู้ผลิตจะสามารถขอรับการส่งเสริมในกิจการต่างๆ ได้โดยตรง เช่นการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ การประกอบหุ่นยนต์ การออกแบบทางระบบวิศวกรรม เป็นต้น ขณะที่ผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสามารถขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอได้ภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตนี้ โดยผู้ขอรับสิทธิจะเป็นผู้ประกอบการทั้งที่เคยได้รับการส่งเสริมและไม่เคยได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก็ได้แต่ต้องเป็นประเภทกิจการที่บีโอไอเปิดให้การส่งเสริม
"บีโอไอให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาอย่างต่อเนื่องโดยตั้งแต่ปี 2556 บีโอไอได้ออกมาตรการสนับสนุนผ่านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงานใช้พลังงานทดแทนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการวิจัยและพัฒนารวมทั้งการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนเพื่อนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตที่จะช่วยสร้างความตื่นตัวในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้มากขึ้น" นางสาวดวงใจ กล่าว
นอกจากรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของบีโอไอแล้ว ในงานนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม ได้แก่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ศูนย์เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติและสมาคมเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) อีกด้วย
สำหรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมภายใต้มาตรการดังกล่าวแล้ว 239 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนกว่า 37,222 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน/ใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งเป็นเงินลงทุนรวม 23,562 ล้านบาทตัวอย่างกิจการที่ได้รับอนุมัติภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในช่วงปี 2560 เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า กิจการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ กิจการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลัง กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เป็นต้น รองลงมาคือ การลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เงินลงทุนรวม 11,436 ล้านบาท
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอมีเป้าหมายเดินหน้าจัดสัมมนาให้ความรู้และข้อมูลด้านนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่องโดยในเดือนกุมภาพันธ์2561 นี้จะจัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อให้ข้อมูลถึงมาตรการใหม่ๆ ของบีโอไอในปัจจุบัน