นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้ผู้บริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่า ได้ให้นโยบายในการปรับตารางเดินรถเที่ยวแรกในช่วงเช้าให้เร็วขึ้นอีก 30 นาที จากปัจจุบันเที่ยวแรกเริ่ม 06.00 น.เป็น 05.30 น. เพื่อลดความแออัดในช่วงเช้า ซึ่งปัจจุบันช่วงเร่งด่วนเช้ามีรถวิ่งชั่วโมงละ 6 ขบวน หรือขบวนละ 10 นาที ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากทำให้เกิดความแออัดที่สถานี ประกอบจะมีการปรับปรุงติดเก้าอี้ ตู้ขนกระเป๋าสัมภาระ จำนวน 4 ตู้ และเร่งรัดจัดซื้อรถ 7 ขบวน จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่ม ซึ่งจะสอดคล้องกับการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่จะปรับเพิ่มจาก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี และจะมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเพิ่มอีก 1 โครงการ
นอกจากนี้ มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการการจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวน วงเงินกว่า 4.4 พันล้านบาท เพื่อให้ได้รถมาใช้ใน 1-2 ปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาจำนวนรถไม่พอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็นที่มีความแออัดมาก
โดยการซื้อรถใหม่ 7 ขบวนไม่ต้องรอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะคาดว่ารถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1/61 และต้องใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้าง กว่าจะเปิดให้บริการได้ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ซึ่งคงไม่ทันเวลา
"ทราบว่า ได้มีการนำเสนอและดำเนินการไปแล้วแต่มีปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้าง ยังมีการฟ้องร้องกันอยู่ ซึ่งจะช่วยพิจารณาหาทางแก้ปัญหา เพราะต้องเร่งจัดซื้อรถเพิ่มโดยเร็วที่สุด"
อย่างไรก็ตาม หากติดขัดเรื่องใดให้คณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหารเร่งนำเสนอเพื่อช่วยกันแก้ไข
ส่วนการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา ซึ่งมีการยกเลิกประมูลไปนั้น รมช.คมนาคม กล่าวว่า ให้ชะลอไปก่อนเพื่อรอข้อสรุปโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อไม่ให้มีปัญหาด้านเทคนิค กรณีรถไฟความเร็วสูงใช้ลำตัวกว้าง ดังนั้นในระหว่างนี้ได้มีข้อเสนอที่จะทำเป็นราวสแตนเลสชั่วคราวไปก่อน และให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแลบนชั้นชานชาลา
ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า การปรับตารางเดินรถเที่ยวแรกเป็น 05.30 น.นั้น มีกระบวนการจะต้องนำเสนอขออนุมัติจาก ร.ฟ.ท.ก่อน คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน ก.พ.61 โดย 30 นาทีที่เปิดเดินรถเร็วขึ้นในช่วงเช้าจะสามารถเดินรถได้ 3 เที่ยว ซึ่งรองรับได้เที่ยวละ 700 คน หรือรวมแล้วได้ประมาณ 2,100 คน ขณะที่การใส่เก้าอี้ในตู้ขนกระเป๋าสัมภาระคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มความจุในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 11,000 คน จากปัจจุบัน 72,000 คนต่อวัน เป็น 83,000 คนต่อวัน ส่วนการติดตั้งราวสแตนเลสกันตกชานชาลานั้นจะใช้งบไม่เกิน 30 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน โดยประมูลต้นปี 61 ได้ตัวผู้รับจ้างกลางปี 61 ติดตั้ง 3-4 เดือนแล้วเสร็จราวเดือน ก.ย.-ต.ค.61