นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 6 (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายหวาง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ เป็นประธานร่วม ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2561 ณ กรุงเทพฯ และในโอกาสนี้จะมีภาคเอกชนจีนเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา หารือโอกาสในการลงทุนใน EEC และการจับคู่ทางธุรกิจด้วย
สำหรับการประชุม JC เศรษฐกิจ เป็นกลไกการหารือทวิภาคีระดับสูง (รองนายกรัฐมนตรี) ระหว่างไทย-จีน ซึ่งไทยและจีนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งไทยและจีนได้สลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง
การประชุม JC เศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 นี้ จะเน้นการหารือยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องเกื้อหนุนกัน และหารือทิศทางการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรสมัยใหม่ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farmer และการใช้ประโยชน์จากการขายสินค้าผ่านช่องทาง e-Commerce
นายสนธิรัตน์ กล่าวเสริมว่า ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) ของรัฐบาลจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0" และ “นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)" ของไทย ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แต่จะเชื่อมโยงด้านดิจิทัล การยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยใช้จุดแข็งของกันและกันมาเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับไทยและจีน เพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันในระยะยาว
ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมการหารือระดับสูงของภาครัฐไทย-จีน การลงนามบันทึกความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทย-จีนแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงาน EEC จัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับภาคเอกชนจีนที่จะเดินทางมากับคณะทางการของจีน อาทิ การสัมมนา “Thailand – PRC : Strategic Partnership through Belt and Road Initiative and the EEC" กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ และกิจกรรมการดูงานเยี่ยมชมพื้นที่ EEC เพื่อเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน
ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 15 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2560 (ม.ค.-ต.ค.) การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น