นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่า ดัชนีรายได้ภาคเกษตรในปี 61 ยังคงขยายต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2560 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศและยังมีน้ำต้นทุนเหลือมากพอสำหรับการทำเกษตรจากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การเพาะปลูกทำได้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 เน้นการดำเนินการเป็นทีมบูรณาการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้ครบทุกด้าน รวดเร็ว และทันต่อความต้องการมากยิ่งขึ้น
ขณะที่แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2560 คาดว่า เพิ่มขึ้น 4.54% เมื่อเทียบกับปี 2559 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.40% ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อย 2.67% เมื่อพิจารณาถึงรายได้เกษตรกรในแต่ละหมวดสินค้า พบว่า หมวดพืชผลเพิ่มขึ้น 6.96% โดยสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน ทุเรียนและมังคุด ขณะเดียวกันหมวดประมง (กุ้งขาวแวนไม) เพิ่มขึ้น 5.29%
อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรในหมวดปศุสัตว์ ลดลง 4.06% เนื่องจากผลผลิตสินค้า ปศุสัตว์หลักทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาส่วนใหญ่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการทางด้านการเกษตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและมีการขยายพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น
สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตร พบว่า ลดลง 4.89% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2559) โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และภาวะการค้ายังชะลอตัวต่อเนื่อง ราคาจึงเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากภาวะการค้ายังชะลอตัวและสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ไข่ไก่
ราคาลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมาก และสุกร ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง และผลผลิตมีคุณภาพดี มีการเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสม มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศมีต่อเนื่อง และภาครัฐดำเนินการแก้ปัญหาราคามันสำปะหลัง 14 มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านการผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหาร เพื่อการส่งออกสูงขึ้น
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2560 ลดลง 0.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2559) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา สับปะรด สุกร และไข่ไก่
ทั้งนี้ ภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนพฤศจิกายน 2560 ลดลง 5.46% จากเดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นผลมาจากดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง
สำหรับแนวโน้มเดือนธันวาคม 2560 พบว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลง 1.98% เป็นผลจากดัชนีราคาปรับตัวลดลง 10.99% โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด สุกร และไข่ไก่ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่ม 10.12% โดยสินค้าสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา สับปะรด สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2560 พบว่า เพิ่มขึ้น 4.54% เมื่อเทียบกับปี 2559 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.40% ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อย 2.67%
เมื่อพิจารณาถึงรายได้เกษตรกรในแต่ละหมวดสินค้า พบว่า หมวดพืชผลเพิ่มขึ้น 6.96% โดยสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน ทุเรียนและมังคุด ขณะเดียวกันหมวดประมง (กุ้งขาวแวนไม) เพิ่มขึ้น 5.29% อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรในหมวดปศุสัตว์ ลดลง 4.06% เนื่องจากผลผลิตสินค้า ปศุสัตว์หลักทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาส่วนใหญ่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการทางด้านการเกษตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและมีการขยายพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น