ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.60 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินของไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมมีความเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยได้พิจารณาใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) พัฒนาการของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีนัยต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งที่ประชุมประเมินว่าความเสี่ยงปรับลดลงจากที่เคยประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคครัวเรือน รวมถึงภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ และ 2) พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund: FIF) ที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีการกระจุกตัวของการลงทุนในสินทรัพย์บางประเทศ รวมถึงขนาดของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงแม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับการประเมินในการประชุมครั้งที่แล้ว
ปัจจุบัน ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง เสถียรภาพด้านต่างประเทศมีความเข้มแข็งสะท้อนจากฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบการเงินไทยสามารถรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินต่างประเทศที่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมปรับดีขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของบางภาคธุรกิจและ SMEs ยังคงด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ด้อยลงในบางภาคธุรกิจ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางทำเล และมีแนวโน้มที่อุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกจะเร่งตัวขึ้นจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use) ในอนาคต
ช่วงที่ผ่านมา การก่อหนี้ของครัวเรือนโดยรวมมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง แต่ภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้และสินทรัพย์ทางการเงินของภาคครัวเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ รวมถึงผลักดันการจัดตั้งโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (คลินิกแก้หนี้) เพื่อป้องกันมิให้หนี้ภาคครัวเรือนกลายเป็นปัญหาที่จะกระทบกับเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว
พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังคงมีอยู่ซึ่งนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งแม้ว่าการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในเกณฑ์ดี (investment grade) แต่กระจุกตัวสูงในบางประเทศ ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้บางรายในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงและมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
ในส่วนนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและอยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของตัวกลางเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนให้มีการลงทุนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล
พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเงินรับฝากจะชะลอตัวลงบ้างแต่ยังอยู่ในระดับสูง และสหกรณ์ออมทรัพย์นำสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงที่เงินรับฝากขยายตัวสูงกว่าเงินให้กู้ยืม ที่ประชุมเห็นว่า แม้หน่วยงานที่กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ (prudential measures) ไปแล้วส่วนหนึ่ง การเร่งยกระดับกรอบกฎหมายและกระบวนการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ให้เท่าทันกับความเสี่ยงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีระบบการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลที่ดี และสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินงานของสหกรณ์
ในระยะต่อไป ระบบการเงินไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของจีน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ทั่วถึง ที่ประชุมจึงเห็นว่าต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนรายได้น้อย ภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรม search for yield ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องซึ่งอาจนำไปสู่การ underpricing of risks ในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงการ underpricing of risks ที่อาจเกี่ยวข้องกับการระดมทุนและการลงทุนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแล ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ร่วมกันประเมินและติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ