นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ ปัจจุบันทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างการจัดทำ จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ซึ่งในแผนพีดีพีฉบับใหม่จะมีการจัดสรรเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอย่างไรนั้น ต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคง ราคาค่าไฟฟ้า และเชื้อเพลิงที่เพียงพอมาใช้
สำหรับความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ เนื่องจากพบว่าการใช้ไฟฟ้าเติบโต 3.4% ต่อปี โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค)ในภาคใต้ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.นี้ อยู่ที่ 2,624 เมกะวัตต์ ทั้งนี้จากข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่ในปัจจุบัน ชี้ชัดว่าภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่จะเป็นเชื้อเพลิงจากประเภทใด เช่น เชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานทดแทนนั้น ต้องขอเวลาให้ กฟผ.ศึกษาต้นทุนที่เหมาะสม บนพื้นฐานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในแผนพีดีพี 2015 พบว่าราคาค่าไฟฟ้าในปี 2579 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5 บาทต่อหน่วย เทียบกับค่าไฟปัจจุบัน 3.8 บาทต่อหน่วย จึงนับว่ายังเป็นระดับที่สูง ดังนั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้จะเป็นเชื้อเพลิงชนิดใด ปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมนั้น จะมีคำตอบก่อนที่การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561
สำหรับเรื่องเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในอนาคต จะเป็นถ่านหินหรือก๊าซแอลเอ็นจี ต้องดูต้นทุน แต่พบว่าปัจจุบันกำลังการผลิตแอลเอ็นจีทั่วโลก จากปัจจุบันอยู่ที่ 200 ล้านตันต่อปี ขยายตัวเพิ่ม 2 เท่าตัวเป็น 500 ล้านตันต่อปี ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ขณะที่ราคาแอลเอ็นจีมีแนวโน้มทรงตัวหรืออ่อนตัวลง
"ปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ ยังมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงไฟฟ้า เนื่องจากการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นมาก จึงมีความสุ่มเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด อาทิ ปัญหาด้านท่อส่งก๊าซหรือสายส่งไฟฟ้า อาจส่งผลให้เกิดไฟฟ้าตก-ดับ แต่เชื่อว่า ปตท. และกฟผ. สามารถประคองสถานการณ์ให้เกิดความมั่นคงได้ ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจ" รมว.พลังงานกล่าว
ด้านนายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตห่างประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การจัดทำแผนเลือกโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชนิดใดนั้น จะต้องรอความชัดเจนแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่คาดว่าจะมีแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 โดยพื้นที่ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในวันเสาร์ ดังนั้นพลังงานหลักจึงต้องเพียงพอ ขณะที่พลังงานทดแทนยังมีปัญหาเรื่องการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ปัจจุบันยังเป็น Non Firm หากไฟฟ้าวูบหายไปอาจเกิดประเด็นได้ ดังนั้นพลังงานหลักยังมีความจำเป็น ส่วนจะเป็นเชื้อเพลิงชนิดใดนั้น ต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ไปสู่ผู้บริโภค
สำหรับความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ หากไม่มีโรงไฟฟ้าหลักเกิดขึ้นในปี 2563 คาดว่าภาคใต้จะมีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ประกอบกับโครงการสายส่งจากภาคกลางไปภาคใต้ 500 Kv มีความล่าช้าไป 1 ปี จะเสร็จในปี 2564 ดังนั้นในช่วงดังกล่าวจะต้องหาทางประคองสถานการณ์ โดยกระทรวงพลังงานจะร่วมกันรณรงค์ประหยัดพลังงานในทุกภาคส่วน และการใช้แผน DEMAND RESPONSE เป็นต้น