สรรพากรเตรียมเสนอมาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองเข้าครม.พรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 25, 2017 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (26 ธ.ค.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการท่องเที่ยวเมืองรอง เช่น ค่าที่พัก, ค่าอาหาร, ค่าซื้อสินค้า OTOP เป็นต้น รวมกันแล้วไม่เกิน 15,000 บาทมาหักลดหย่อนภาษี ระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค.61 โดยนำใบเสร็จรับเงินจากผู้ประกอบการที่ไปรับบริการหรือซื้อสินค้าเป็นหลักฐานเท่านั้น โดยมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนที่อยู่ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะในเมืองรองมีรายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับจังหวัดเมืองรองที่เข้าข่ายมาตรการภาษีดังกล่าวนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเป็นผู้กำหนด โดยอาจมีบางอำเภอที่เข้าข่าย แม้จะอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักก็ตาม

"ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากเม็ดเงินภาษีบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะสูญเสียรายได้ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วคุ้มค่า เพราะจะทำให้เกิดรายได้ที่กระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองรอง ซึ่งรากหญ้าก็จะได้ประโยชน์จากการมีรายได้เพิ่มขึ้น" อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

พร้อมระบุว่า กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างการเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยได้หักเป็นค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นอีก 3 หมื่นบาท จากมาตรการเดิมที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อปีภาษี 2560 ที่ให้หักลดหย่อยบุตรได้ 3 หมื่นบาท รวมเป็น 6 หมื่นบาท สำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป และกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนสำหรับรายจ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อปี สำหรับการจ่ายตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้น หลังจากมีข้อมูลระบุว่าในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุ โดยจากจำนวนประชากรประมาณ 70 ล้านคนนั้น มี 25 ล้านคนที่อยู่ในวัยทำงาน ส่วนอีกประมาณ 40 ล้านคน มีอายุเกิน 60 ปี ดังนั้นมาตรการดังกล่าวที่ออกมาเพื่อรองรับภาวะประชากรผู้สูงอายุในอนาคตนั่นเอง

นายประสงค์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การเก็บภาษีจากผู้ประกอบการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ว่า กรมฯ ได้เลื่อนการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเดือน ม.ค.61 จากเดิมกำหนดภายในเดือน ธ.ค.นี้ หลังจากที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. - 11 ก.ค.60 ซึ่งพบว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 64 ราย เห็นด้วย 29 ราย ไม่เห็นด้วย 35 ราย

"คาดว่าหลังรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ และมีการนำความคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงให้เข้ากับกฎหมาย เพื่อให้มีความเหมาะสมมากที่สุด สามารถตอบทุกคำถามได้อย่างชัดเจน แล้วจึงจะเสนอให้ ครม.พิจารณา คาดว่าจะสามารถประกาศใช้กฎหมายได้ภายในปี 2561" อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

พร้อมยืนยันว่า กฎหมายนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพอย่างแน่นอน เพราะตามปกติผู้ประกอบการต้องมีการเข้าระบบเพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้องอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 1 ม.ค.61 จะมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นของกรมสรรพากร เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารหรือแจ้งเบาะแสสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าระบบเสียภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั้งหมด โดยเมื่อมีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามา กรมสรรพากรจะมีการตรวจสอบข้อมูลในรายละเอียดของผู้เสียภาษีว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าระบบดังกล่าวจะมีความปลอดภัยกับทั้งผู้แจ้ง และผู้เสียภาษีทุกคนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ