น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา เรื่อง "โอกาสทางการค้าของไทยบนเส้นทางสายไหม : ผ่าน FTA อาเซียน – จีน และอาเซียน – ฮ่องกง"ว่า ในวันที่ 1 ม.ค.61 ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน จะเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้เริ่มลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 47 โดยทยอยลดภาษีลงแล้วกว่า 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไทยส่งออกสินค้าไปจีนได้มากขึ้น และช่วยผลักดันให้การค้าไทย-จีน เพิ่มสูงขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดจะมีมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์ในปี 63 จากในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 67,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 สินค้ากลุ่มอ่อนไหวจะลดภาษีลงเหลือ 0-5% จากปี 55 ที่ลดลงเหลือไม่เกิน 20% โดยสินค้าที่จีนจะลดภาษี เช่น กาแฟ ใบยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า สับปะรดแปรรูป กระดาษ โพลีเอสเตอร์ กระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ และถุงลมนิรภัย เป็นต้น โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของจีน เช่น ใบยาสูบ กาแฟ ฝ้าย สับปะรดแปรรูป และโพลีเอสเตอร์ ส่วนสินค้าที่ไทยจะลดภาษี เช่น แป้งข้าวสาลี น้ำผลไม้ โพลีเอสเตอร์ ยางรถยนต์ รองเท้ากีฬา ของเล่น กระจก ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องรับโทรทัศน์ ไมโครเวฟ แบตเตอรี่ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มสินค้าอ่อนไหวสูงที่ยังคงภาษีไว้จนถึงวันที่ 1 ม.ค.58 นั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 จะลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 50% ของอัตราภาษีเดิม โดยสินค้าของจีน เช่น ข้าวโพด ข้าว พืชน้ำมัน น้ำตาล กระดาษ ด้ายใยสังเคราะห์ กระดาษแข็ง เป็นต้น และของไทย เช่น สินค้าเกษตร 23 รายการที่มีโควตาภาษี เช่น นม ครีม มันฝรั่ง กระเทียม ไหมดิบ และหินอ่อน เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ลดภาษีไปแล้ว ไทยยังคงใช้ประโยชน์ในการส่งออกได้ต่อไป คือ กลุ่มสินค้านำร่อง ได้แก่ ผัก ผลไม้ สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์นมและไข่ เป็นต้น ลดภาษีเป็น 0% ตั้งแต่ปี 49 และกลุ่มสินค้าปกติจำนวน 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ได้ลดภาษีเป็น 0% ตั้งแต่ปี 53
น.ส.ชุติมา ยังกล่าวต่อถึง FTA อาเซียน-ฮ่องกงว่า จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.62 ซึ่งฮ่องกงลดภาษีสินค้าทุกรายการเป็น 0% อยู่แล้ว และไม่สามารถขึ้นภาษีในอนาคตได้ เพราะได้ผูกพันไว้แล้ว ส่วนภาคบริการได้เปิดตลาดในบริการการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุน และฮ่องกงยังได้สนับสนุนเงิน 25 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ได้แก่ บริการวิชาชีพ, โลจิสติกส์, วิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี), พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยไทยสามารถเสนอโครงการขอความช่วยเหลือด้านวิชาการจากฮ่องกง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในด้านดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ในฐานะที่ฮ่องกงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายวัน เบล์ท วัน โรด ของจีน จากการทำโครงการเชื่อมโยงฮ่องกงและจีน ทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลยาวกว่า 50 กิโลเมตร เชื่อมฮ่องกง มาเก๊า และจูไห่ และโครงการ Greater Bay Area เชื่อมมณฑลกวางตุ้ง 9 เมืองกับฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งไทยสามารถเชื่อมโยงการค้าการลงทุนเข้ากับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย เพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียน ไทย จีน และฮ่องกงได้
"กระทรวงฯ ยังมีแผนผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยได้เจรจากับคู่ค้า โดยจะช่วยเหลือเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการในลักษณะ Focus Group เพื่อให้คำแนะนำชี้โอกาสในการส่งออก และจะทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการพาออกไปขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสและสามารถใช้ประโยชน์จากการค้าเสรีได้จริง" รมช.พาณิชย์ระบุ