พาณิชย์เตรียมพัฒนาธุรกิจชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ตั้งเป้าปี 64 มูลค่า e-Commerce ไทยแตะ 5 ล้านลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 26, 2017 09:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) และผู้ประกอบการ e-Commerce รายใหญ่ ว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางสร้างความร่วมมือในการพัฒนา e-Commerce ซึ่งถือเป็นช่องทางการตลาดที่มีต้นทุนไม่สูงมาก เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถค้าขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยเบื้องต้น ที่ประชุมเห็นพ้องให้ดำเนินการขับเคลื่อนผู้ประกอบการชุมชนในการใช้ช่องทาง e-Commerce เพื่อทำการตลาดและกระจายสินค้า 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การพัฒนาผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ผ่านการจัดอบรม โดยการนำจุดเด่นของสินค้าซึ่งผู้ประกอบการมีอยู่แล้วมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อดึงดูดความสนใจ (Content Marketing) ของผู้บริโภค และสามารถใช้ช่องทาง e-Marketplace ในการขยายช่องทางการตลาด

"โดยในปี 2561 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนเข้าสู่ช่องทาง e-Commerce อย่างน้อย 10,000 ราย และสร้างยอดขายได้มากกว่า 500 ล้านบาท" นางกุลณีกล่าว

2. สร้างบรรยากาศการซื้อขายผ่าน e-Commerce ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าออนไลน์ตระหนักถึงการมีตัวตนและความน่าเชื่อถือของร้านค้า ผ่านการขอรับเครื่องหมายรับรอง DBD Registered หรือ DBD Verified จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ก่อให้ธุรกิจเกิดความเติบโตอย่างยั่งยืน

3.การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าออนไลน์ (e-Commerce Booster) อาทิ การจัดงาน Thailand Online Mega Sale, e-Commerce Festival และ Offline 2 Online Expo ซึ่งงานฯ ดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดออนไลน์ โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า หัวใจสำคัญของแนวทางการขับเคลื่อนครั้งนี้ คือ การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและการพัฒนาให้ตรงจุดอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะร่วมมือกันกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ e-Commerce อย่างยั่งยืน (e-Commerce Entrepreneur Standardize) รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมผู้ประกอบการซึ่งจะเน้นเรื่องการเขียนเรื่องราวให้กับผู้ประกอบการ (Story Telling) รวมถึงการปรับรูปแบบการสอนให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ Smart Phone ในการเปิดร้านค้าและการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ (M-Commerce) ได้

"ความร่วมมือในครั้งนี้ กรมฯ คาดหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหา และเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้อย่างไร้กังวล รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์เห็นถึงความสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยการขอรับเครื่องหมาย DBD Registered จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามากขึ้น ใช้ e-Commerce เป็นช่องทางการขยายตลาดไปสู่สากลและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างมั่นคง" นางกุลณี กล่าว

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าผลักดันยอดขายผ่าน e-Commerce ให้เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ภายใน 5 ปี โดยคาดว่าปี 2564 e-Commerce ไทย จะมีมูลค่าแตะ 5 ล้านล้านบาท ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งค้าขายออนไลน์อาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ