ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2561 ธุรกิจบัตรเครดิตอาจทยอยปรับตัวดีขึ้น ทั้งในส่วนของการขยายฐานลูกค้า และยอดคงค้างของสินเชื่อ โดยมีแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนในภาพรวม นอกจากนี้ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีหน้า ก็อาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมตามสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาน้ำมันที่คงทยอยปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ การส่งเสริมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านยุทธศาสตร์ National e-Payment ของภาครัฐ น่าจะเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์ให้มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น
สัญญาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2561 ดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดการใช้จ่ายกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามบรรยากาศการใช้จ่าย และเศรษฐกิจในภาพรวม จากผลสำรวจฯ พบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตเกือบ 1 ใน 3 หรือประมาณ 29.2% มีแผนที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบสัดส่วนราว 9.0% ในผลสำรวจของช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ แม้เหตุผลด้านความคล่องตัวของบัตรเครดิตที่มากกว่าเงินสดจะเป็นตัวเลือกอันดับแรกจากผู้ถือบัตรที่มีแผนการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นในปีหน้า (ซึ่งภาพนี้สอดคล้องกับแนวทางมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดของภาครัฐ)
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลลำดับรองลงมานั้น เป็นเรื่องการวางแผนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นภาพที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในปีหน้าเช่นกัน โดยภาพรวมลักษณะการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรในผลสำรวจฯ ยังคงเน้นไปที่การจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาสินค้าคงขยับขึ้นตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ทั้งนี้ จากผลของทิศทางการใช้จ่าย และสถานการณ์ราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในปี 2561 ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบ (ทั้งแบงก์ และ นอนแบงก์) มีโอกาสเติบโตไม่ต่ำกว่า 6.0% ในปี 2561 (ดีขึ้นจากปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.5%) โดยในส่วนของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของระบบธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 5.5%
ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ประกอบการเอง ก็น่าจะเตรียมแผนเร่งขยายฐานบัตรเครดิตสู่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการนำเสนอแคมเปญ โดยเฉพาะโปรโมชันผ่อนชำระ 0% ซึ่งยังคงเป็นแคมเปญจูงใจผู้ใช้บัตร
อย่างไรก็ดี คาดว่า สถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจอาจกลับมาเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะกลยุทธ์การเร่งขยายฐานบัตรเครดิตไปสู่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการนำเสนอแคมเปญจูงใจผู้ใช้บัตรที่มีความหลากหลาย ซึ่งจากภาพทั้งหมด คาดว่า จะทำให้จำนวนบัญชีบัตรเครดิตของระบบ (ทั้งแบงก์ และ นอนแบงก์) ในปี 2561 มีโอกาสเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 21.8 ล้านบัญชี หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 6.0% เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำของปีนี้ ซึ่งมีผลจากการปิดบัตร ขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิตในส่วนของธนาคารพาณิชย์น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 6.5% สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะจบปีนี้ที่ 6.0%
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนบัญชีบัตรเครดิตของระบบ (ทั้งแบงก์ และ นอนแบงก์) ในปี 2561 มีโอกาสเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 21.8 ล้านบัญชี หรือเติบโตในกรอบ 6.0% - 7.5% เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำของปีนี้ ที่คาดว่าจะจบปีที่ระดับ 20.4 ล้านบัญชี หรือเติบโตเพียง 1.5% ซึ่งมีผลจากการปิดบัตร เช่น การลดต้นทุนการรักษาสภาพของบัตรเครดิตแต่ละใบ การหมดสัญญากับพันธมิตรบางราย การยกเลิกการให้บริการบัตรเครดิต เป็นต้น โดยจำนวนบัญชีบัตรเครดิตของแบงก์คงกลับมาเติบโตอีกครั้งในระดับไม่ต่ำกว่า 4.5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัวลง 5.7% ประกอบกับคาดว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ประคองภาพการขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาจทำให้สภาพการแข่งขันเพื่อขยายฐานลูกค้ากลับมาเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง ทั้งเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ ตลอดจนรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยเฉพาะตลาดลูกค้าระดับบน ซึ่งเป็นกลุ่มรายได้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดด้านวงเงินจากเกณฑ์บัตรเครดิตใหม่ และเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ขณะที่ ตลาดลูกค้าระดับรองลงมานั้น กลยุทธ์การแข่งขันของผู้ประกอบการคงเป็นไปในลักษณะของรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยแนวทางที่ยังระมัดระวัง
จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า โปรโมชันบัตรเครดิตที่ยังโดนใจผู้ถือบัตร ยังคงเป็นโปรโมชันผ่อนชำระ 0% แคมเปญสะสมคะแนนแลกของรางวัล แคมเปญให้เครดิตคืนเงินเข้าบัญชี ตลอดจนแคมเปญรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งด้วยกระแสการใช้ชีวิตและการช้อปปิ้งที่หันสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ก็คงจะทำให้แคมเปญที่จะเห็นในปีใหม่นี้ จะมาในรูปของการนำเสนอ/ตรวจสอบ/เลือกใช้สิทธิพิเศษต่างๆ ที่จะมีลักษณะเป็น Real time มากขึ้น
ในระยะถัดไป ด้วยจุดแข็งด้านการใช้เครดิตชำระค่าสินค้า/บริการ และบริการผ่อนชำระ น่าจะทำให้ธุรกิจบัตรเครดิต ยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้จะมีระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อื่นๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินเชื่อบัตรเครดิตปี 2561 ของธนาคารพาณิชย์อาจขยายตัวได้ดีขึ้นมาที่ 6.5% สูงขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัว 6.0% สอดคล้องกับสินเชื่อบัตรเครดิตของทั้งระบบในปี 2561 (รวมแบงก์และนอนแบงก์) ที่มองว่า อาจขยายตัวได้ใกล้เคียงหรือดีขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 6.5-8.0% สูงขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ประมาณ 6.5% ขณะที่ โอกาสที่คิวอาร์โค้ดบัตรเครดิตจะทยอยนำออกมาใช้เป็นการทั่วไปภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 น่าจะเปิดโอกาสให้บริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตขยายตัวครอบคลุมไปสู่ธุรกรรมซื้อ-ขายของร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กได้มากขึ้น