นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจกาค้า โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ทั้งทางอากาศ, ทางราง, ทางถนน และทางน้ำ ให้เชื่อมสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และผลักดันให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นประตูสู่ตลาด CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) และจีนตอนใต้
โดย 5 โครงการสำคัญในพื้นที่พัฒนา EEC ที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships : PPP) ประกอบด้วย 1.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา 3.รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 4.ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ 5.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมวงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท โดยกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 61
ทั้งนี้ สำหรับโครงการ EEC รัฐบาลได้จัดเตรียมสิทธิประโยชน์และมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดเอกชนที่มีศักยภาพมาร่วมพัฒนาโครงการ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี เป็นสัดส่วนไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น สำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออก 1 ปี สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาเพื่อการศึกษาลู่ทางการลงทุน หรือนำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน รวมถึงการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ (สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา) เป็นต้น