ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยไปยังฟิลิปปินส์ในปี 2560 จะเติบโตที่ 8.9% หรือมีมูลค่า 6,966 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2561 ยังคงจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 6.0% หรือมีมูลค่า 7,384 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นลำดับสองในการส่งออกของไทยไปยังประเทศอาเซียนทั้งหมดรองจากการส่งออกไปยังเวียดนาม
อาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยด้วยสัดส่วนการส่งออกกว่า 25.4% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด โดยมีตลาด CLMV ที่ขยายตัวอย่างโดดเด่นที่ 13.0% ต่อปี ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2559) เป็นแรงผลักดันสำคัญ อย่างไรก็ดี แม้ว่า การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน-5 (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน) ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่า 59.3% ของการส่งออกไปอาเซียนทั้งหมด 9 ประเทศ กลับขยายตัวเพียง 2.8% ต่อปี แต่กระนั้น การส่งออกของไทยไปยังอาเซียน-5 เน้นการส่งสินค้าขั้นกลางเพื่อป้อนภาคการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโครงสร้างการส่งออกดังกล่าวจะมีความยั่งยืนจากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวนทางด้านราคาซึ่งเป็นสินค้าหลักในการส่งออกของไทยไปยัง CLMV
ท่ามกลางแนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังอาเซียน-5 ที่ขยายตัวลดลง ทว่า การส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรั้งอันดับ 4 ในอาเซียน-5 กลับเติบโตสวนทางกับประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา (2551-2559) ขยายตัวเฉลี่ยที่ 8.7% ต่อปี นอกจากนี้ ในปี 2559 ยังขยายตัวอย่างโดดเด่นกว่า 6.8% เหนือตลาดอื่นๆ ในอาเซียนทั้งหมด ดังนั้น จึงอาจถึงเวลาที่ไทยจะหันมามองฟิลิปปินส์ในฐานะตลาดที่มีศักยภาพทั้งจากการขยายตัวของการส่งออกที่โดดเด่นและการมีโครงสร้างการส่งออกสินค้าที่มีความยั่งยืน
การส่งออกของไทยไปยังฟิลิปปินส์มีทิศทางที่เติบโต จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งโครงสร้างสินค้าที่ไทยส่งไปยังฟิลิปปินส์ยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีความยั่งยืนในแง่ความแน่นอนที่จะไม่ต้องเผชิญกับความผันผวนทางด้านราคาที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักร โดยคาดว่า ในระยะข้างหน้าการส่งออกของไทยไปยังฟิลิปปินส์จะมีแนวโน้มที่ขยายตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนหลักที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) การเป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเดียวกันกับฟิลิปปินส์ ไทยและฟิลิปปินส์มีห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ร่วมกัน โดยฟิลิปปินส์เป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ (HS 847170) เพื่อส่งไปยังจีน สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง โดยมีไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ (HS 847330) ซึ่งแม้ว่ายังคงมีสัดส่วนการส่งออกที่น้อยเมื่อเทียบกับ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน ที่เป็นผู้ส่งออกหลัก แต่การส่งออกของไทยก็นับได้ว่ามีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในระยะข้างหน้า ไทยมีโอกาสจากการส่งออกผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างแผงวงจรรวม (HS 8542) ชิ้นส่วนกล้อง (HS 8525) และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ อย่างชิ้นส่วนโทรทัศน์ (HS 8528 และ HS 8529) หม้อแปลงไฟฟ้า (HS 8504) เพื่อเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายอย่างส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า (สายไฟ สวิตช์ ฟิวส์) เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้สำนักงาน และกล้องถ่ายภาพ โดยปัจจุบันฟิลิปปินส์ได้มีการนำเข้าแผงวงจรรวมซึ่งมีเทคโนโลยีที่สูง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางอื่นๆ เพื่อผลิตส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าส่งออก รวมถึงเพื่อนำมาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สำนักงาน อาทิ กล้องถ่ายรูป เครื่องเล่นดีวีดี เครื่องปริ้น เพื่อตอบสนอง อุปสงค์ภายในประเทศ โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายของฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างการพัฒนา เห็นได้จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติ ซึ่งในระยะข้างหน้า ด้วยศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นภาคการผลิตหลักของฟิลิปปินส์ จึงคาดว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายน่าจะมีทิศทางการส่งออกที่ทวีบทบาทขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางที่สอดคล้องกับภาคการผลิตของฟิลิปปินส์ในอนาคต
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันฟิลิปปินส์จะมีความสามารถในการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางโดยเฉพาะแผงวงจรรวม (HS 8542) แต่กว่า 90% เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกโดยมีตลาดหลักคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และไต้หวัน เนื่องจากเป็นแผงวงจรที่ยังใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำในการผลิตซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการภายในประเทศ
2) ตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพของฟิลิปปินส์ ธุรกิจค้าปลีกของฟิลิปปินส์มีแนวโน้มขยายตัวเป็นอย่างมาก ตามจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปยังฟิลิปปินส์อยู่เดิมมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ภาคการผลิตของฟิลิปปินส์ที่มีการพัฒนาและเติบโตในอัตราที่สูงโดยเฉพาะการผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ดังนั้น ไทยควรเน้นการส่งออกสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงเพื่อจับตลาดสำหรับผู้มีรายได้สูงซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าไทยในระยะข้างหน้าได้
อย่างไรก็ดี ไทยยังคงมีจุดแข็งจากความสามารถในการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างตู้เย็น (HS 8418) เครื่องปรับอากาศ (HS 8415) และเครื่องซักผ้า (HS 8450) อยู่ โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าทั้ง 3 ประเภท ไปยังฟิลิปปินส์เป็นอันดับที่สองรองจากจีนด้วยสัดส่วน 20% 25% และ 30% ของการนำเข้าของฟิลิปปินส์ทั้งหมดตามลำดับ จึงน่าจะมีโอกาสในขยายศักยภาพในการส่งออก ท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคฟิลิปปินส์ที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ การเกิดภัยธรรมชาติในทุกปียังส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรบางประเภทไม่เพียงพอสำหรับป้อนภาคการผลิตอาหาร ประกอบกับภาคการผลิตอาหารแปรรูปของฟิลิปปินส์ยังมีการพัฒนาไม่มากเท่าที่ควร จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีหากไทยจะพิจารณาส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปประเภทต่างๆ ไปยังตลาดฟิลิปปินส์ได้
ตลาดฟิลิปปินส์ยังมีโอกาสที่รอคอยอยู่อีกมากจากทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวสูง จึงนับเป็นสัญญาณที่ดี หากไทยจะหันไปมองตลาดฟิลิปปินส์และไขว่คว้าโอกาสดังกล่าวไว้ ท่ามกลางความท้าทายในการส่งออกของไทยไปยังตลาดอาเซียนอื่นๆ ในปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องศึกษาตลาดฟิลิปปินส์อีกมาก ทั้งในแง่กฏระเบียบทางการค้าที่ค่อนข้างซับซ้อนและในด้านวัฒนธรรมที่จะสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง