กรมทางหลวง เปิดเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นขั้นตอนการสำรวจและออกแบบโครงการ (การประชุมใหญ่ครั้งที่ 1) โครงการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ตอน 1 ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย เพื่อนำเสนอสาระสำคัญ วัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินการ แผนการดำเนินโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้สนใจทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชนในพื้นที่ จ.ชลบุรี เข้าร่วมประชุม
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย เป็นหนึ่งในแนวเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 เม.ย.40 เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ รองรับการขนส่งสินค้าและเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยกรมทางหลวงได้จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 359) เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ รองปริมาณการคมนาคมขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ตามแนวเส้นทาง สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางหลวงสายหลัก
ดังนั้นกรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ตอน 1 ออกเป็น 2 ส่วน โดยตอน 1 ส่วนที่ 1 แบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 กม. 0+000 บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ถึง กม. 19+500 ระยะทาง 195 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 กม. 0+000 บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ถึงท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (super Line) ระยะทาง 0.95 กิโลเมตร โดยมี บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการ และตอน 1 ส่วนที่ 2 มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 331 กม.19+500 ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ถึง ทางหลวงหมายเลข 3340 กม.64+000 บริเวณอ.บ่อทอง จ.ชลบุรี โดยมีบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท วิศวกรรมธรณีและรากฐาน จำกัด บริษัท เอสคิว อาร์คีเต็ด แอนด์ แปลนเนอร์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 5 อำเภอ ใน จ.ชลบุรี ได้แก่ อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.หนองใหญ่ อ.บ้านบึง และ อ.บ่อทอง
สำหรับขอบเขตการศึกษาโครงการครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.งานสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมและจราจร 2.งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) 3.งานด้านสิ่งแวดล้อม 4.งานการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 5.งานสำรวจอสังหาริมทรัพย์และข้อมูลเพื่อการเวนคืน
ทั้งนี้ เมื่อการพัฒนาเส้นทางนี้แล้วเสร็จจะช่วยให้การเดินทางและขนส่งสินค้าตามแนวเส้นทางมีความสะดวก รวดเร็ว ลดอุบัติเหตุ และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรคับคั่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงทางแยกต่างระดับหนองขาม-ท่าเรือแหลมฉบัง และในแนวทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ช่วงทางแยกต่างระดับแหลมฉบัง-คลองบางละมุง ที่จะมีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของประเทศในอนาคต ที่สำคัญยังเป็นเส้นทางที่รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเชื่อมต่อการค้าการลงทุนและการเดินทางระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต เป็นการยกระดับการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออก ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย
โดยภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวงจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง