การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง กับบริษัทผู้รับจ้างที่ผ่านการคัดเลือกด้านราคาทั้ง 9 สัญญา ประกอบด้วย ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ช่วงนครปฐม-หัวหิน, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร รวมระยะทาง 702 กม. มูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น รวม 69,531,000,000 บาท
โดยรายละเอียดแต่ละสัญญา ได้แก่ 1. งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 136 กม. แบ่งออกเป็น สัญยาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิต วงเงิน 7,560,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ วงเงิน 9,290,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 42 เดือน โดยมีบมจ. อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนต์ (ITD) และ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที เป็นผู้รับจ้างสัญญางานก่อสร้าง
2. งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 168 กม. แบ่งออกเป็น สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบ-บางสะพานน้อย วงเงิน 6,465,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน และ สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย--ชุมพร วงเงิน 5,992,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยมีกิจการร่วมค้า เคเอส-ซี และกิจการร่วมค้า เอสทีทีพี เป็นผู้รับจ้างสัญญางานก่อสร้าง
3.งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. แบ่งออกเป็น สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล วงเงิน 8,198,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือนและสัญญาที่ 2 ช่วงหน่องปลาไหล-หัวหิน วงเงิน 7,520,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยมีบริษัท เอ เอส แอสโซซิเอส เอนยิเนียริ่ง 1964 จำกัด และ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้างสัญญางานก่อสร้าง
4. งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี- ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กม. แบ่งออกเป็นสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม วงเงิน 10,050,000,000 บาทระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน และ สัญญาที่ 2 ท่าแค-ปากน้ำโพ วงเงิน 8,649,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยมีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-เอสเอช และ บมจ .ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นผู้รับจ้าง
5. งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 5,807,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน โดยมี ITD เป็นผู้รับจ้าง
ภายหลังจากการลงนามแล้ว รฟท. จะให้ผู้รับจ้างเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วง Q1/61 และให้แล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2565
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระรทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า หากการดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทางแล้วเสร็จ รฟท.จะมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 995 กม. หรือเพิ่มขึ้น 24.6% ของเส้นทางรถไฟทั้งประเทศ ซึ่งสามารถพลิกโฉมการขนส่งทางรถไฟได้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้มีความจุของทางรถไฟเพิ่ม สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว ขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น และสามารถเพิ่มความรวดเร็วและตรงต่อเวลาในการเดินขบวนรถไฟได้อีกด้วย