นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน พ.ย.60 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
โดยภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว มีการบริโภคและการลงทุนเอกชน รวมถึงภาคเกษตร เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ย.60 ขยายตัวที่ 6.3% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และตราด เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ 39.7% และ 22.8% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 46.2% และ 15.5% ต่อปี สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 4,921 ล้านบาท ขยายตัว 51.6% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยองและปราจีนบุรีเป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัว 3.5% และ 15.5% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ระดับ 101.0 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.60 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 0.9% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.60 อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 4.6% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ตรัง พังงา และกระบี่ เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ 83.3% และ 13.1% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 42.0% และ 27.9% ต่อปี ตามลำดับ
ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือน ต.ค.60 ขยายตัว 5.7% และ 13.1% ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาภูเก็ต พังงา และนครศรีธรรมราช เป็นสำคัญ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.60 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.60 อยู่ที่ 1.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ย.60 ขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ 79.1% และ 7.4% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 19.0% และ 12.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 2,003 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดเพชรบูรณ์ และลำปาง เป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน ต.ค.60 ขยายตัว 3.8% และ 5.4% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ระดับ 80.8 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.60 (เบื้องต้น) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.3% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.60 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในระดับสูงที่ 69.9% และ 14.2% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 13.6% และ 20.0% ต่อปี ตามลำดับ
ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน ต.ค.60 ขยายตัว 13.1% และ 17.7% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.60 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.60 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ย.60 ขยายตัวที่ 1.4% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยายนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 44.1% และ 3.2% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 14.7% และ 6.0% ต่อปี ตามลำดับ
ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน ต.ค.60 ขยายตัว 3.0% และ 6.8% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.ปรับตัวดีขึ้นมาที่ระดับ 81.9 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.60 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.60 อยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 46.0% และ 15.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 34.6% และ 54.0% ต่อปี ตามลำดับ
ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน ต.ค.60 ขยายตัว 10.1% และ 11.8% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.ปรับตัวดีขึ้นมาที่ระดับ 88.7 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย.60 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.5% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.60 อยู่ที่ 1.6% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ย.60 ขยายตัวที่ 1.6% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยายนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 58.2% และ 1.7% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 24.6% และ 43.1% ต่อปี ตามลำดับ
ด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน ต.ค.60 ขยายตัว 5.6% และ 10.2% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.60 (เบื้องต้น) ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค