นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการพยากรณ์ผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ของสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดู
สำหรับผลพยากรณ์ ปี 2561 ครั้งที่ 1 (ข้อมูล ณ 4 ธันวาคม 2560) พบว่า เนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 622,126 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 605,481 ไร่ (เพิ่มขึ้น 16,645 ไร่ หรือ 2.75%) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นประมาณ 5.42% มังคุด เพิ่มขึ้น 1.76% และเงาะ เพิ่มขึ้น 0.97% ส่วนลองกอง ลดลง 3.73%
ผลผลิตรวมทั้ง 4 สินค้า คาดว่าจะมีประมาณ 802,973 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 792,113 ตัน (เพิ่มขึ้น 10,860 ตัน หรือ 1.37%) โดยผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงกลางเดือนมิถุนายน คาดการณ์ว่าผลผลิตรวมของทั้ง 4 สินค้าจะเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยเงาะ จะเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 3.48% เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยปริมาณน้ำเพียงพอ รองลงมาได้แก่ มังคุด เพิ่มขึ้น 1.23% ทุเรียน เพิ่มขึ้น 0.54% และลองกอง เพิ่มขึ้น 0.04%
ผลผลิตต่อไร่ เงาะ และ ลองกอง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับในปีที่ผ่านมาไม้ผลบางต้นไม่ติดผลหรือให้ผลผลิตน้อยทำให้มีเวลาในการพักต้นสะสมอาหารต้นสมบูรณ์ขึ้นส่วนหนึ่ง ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ทุเรียน และ มังคุด มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากในปีที่ผ่านมาติดดอกออกผลมากจึงคาดว่าต้นมังคุดจะพักสะสมอาหาร อีกทั้งปีที่ผ่านมา ต้นทุเรียนประสบปัญหาเชื้อราไฟทอปเธอราที่ระบาด ทำให้ทุเรียนรากโคนเน่ายืนต้นตาย ขยายเป็นพื้นที่กว้างทั้งจังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะแหล่งผลิตใหญ่ในจังหวัดจันทบุรีได้รับผลกระทบมากทำให้จำนวนต้นต่อไร่ที่ให้ผลผลิตได้ลดลง
สำหรับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2561 ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยให้จังหวัดคำนึงถึงการบริหารจัดการผลไม้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิต
ด้านเชิงคุณภาพ เช่น การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่มาตรฐาน (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลในลักษณะแปลงใหญ่ อบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิต เป็นต้น ส่วนในเชิงปริมาณ เช่น การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า การจัดทำแผนบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน เป็นต้น ทั้งนี้จังหวัดจะจัดทำรายละเอียดของแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ โดยมี คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการกลั่นกรอง เชื่อมโยง บูรณาการ แผนงานหรือโครงการต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนอาจทำให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง ได้อีก เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศในช่วงแรกของภาคตะวันออกมีฝนตกค่อนข้างมากในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ส่งผลต่อการติดดอกออกผลของผลไม้โดยเฉพาะมังคุด เงาะ และลองกองที่ออกดอกล่าช้า จึงยังไม่เห็นพัฒนาการที่ชัดเจน โดยดอกมังคุด และเงาะจะเห็นผลได้ชัดเจนอีกครั้งหลังกลางเดือนธันวาคมเป็นต้นไป