ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยพ.ย.ขยายตัวดีต่อเนื่อง, ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับภาคส่งออกและท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 29, 2017 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพ.ย.ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีตามการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดีทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยว

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ย.มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 12.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคขยายตัว 14.4% โดยยังคงเป็นการขยายตัวต่อเนื่องในทุกตลาดส่งออกสำคัญและในเกือบทุกหมวดสินค้าจาก 1) อุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ การส่งออกข้าว ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลไม้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 2) ราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามน้ำมันดิบขยายตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และ 3) การย้ายฐานการผลิต และการขยายกำลังการผลิตในบางอุตสาหกรรมในช่วงก่อนหน้า อาทิ อุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 23.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน จากผลของฐานต่ จากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในปีก่อน และการเร่งขึ้นของนักท่องเที่ยวรัสเซียเนื่องจากมีการเปิดเส้นทางบินตรงมาไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่เร่งตัวไปมากแล้วในเดือนก่อนหน้าที่มีช่วงวันหยุดชาติจีนมากกว่าปกติ

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีการเลื่อนการส่งมอบรถยนต์ ประกอบกับในเดือนนี้มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภค (หลังปรับฤดูกาล) โดยรวมที่ดีขึ้นตามความเชื่อมั่นครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง โดยรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรกรรมหดตัวจากทั้งด้านราคาและผลผลิต ขณะที่รายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมทรงตัว การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ขยายตัวดี ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะการผลิตในหมวดอาหารและหมวดยานยนต์

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนดีขึ้นจากเดือนก่อน จากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นในหมวดโทรคมนาคมและพลังงาน และเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้าง ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยในภาคกลางและภาคเหนือ และธุรกิจพาณิชยกรรมในภาคใต้

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายงบเพิ่มเติมของงบกลุ่มจังหวัดประจำปี 2560 ส่วนรายจ่ายประจำขยายตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายเงินเบี้ยหวัด และบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 11.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 10.5% ตามการนำเข้าที่ขยายตัวในเกือบทุกสินค้า ได้แก่ 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามการนำเข้าเชื้อเพลิงโดยเป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมการน เข้าเชื้อเพลิง การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการนำเข้าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และโลหะ สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่ขยายตัวดี 2) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม 3) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนในทุกกลุ่มสินค้า และ 4) หมวดยานยนต์ ตามการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสอดคล้องกับการผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ดีขึ้น ตามลำดับ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.99% เพิ่มขึ้นจาก 0.86% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาอาหารสดปรับลดลงจากปริมาณผลผลิตภาคเกษตรกรรมที่ออกสู่ตลาดมาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.61% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก เดือนก่อนที่ 0.58% สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ ได้แก่ 1) การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของกองทุนรวม (Foreign Investment Fund : FIF) และ กองทุนบำเหน็จบำนาญ 2) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของธุรกิจกิจกรรมการบริหารและสนับสนุน สำนักงาน และที่พักแรม และ 3) การให้สินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าในต่างประเทศตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ