ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายโดยรวมในปี 61 ยังคงมีทิศทางการขยายตัวที่ชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านราคาสำหรับการใช้บริการสื่อสารข้อมูล (Data) ต่อเมกะไบต์ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน อัตราค่าบริการสื่อสารข้อมูลโดยเฉลี่ยมีมูลค่าราว 0.16 บาทต่อเมกะไบต์ ลดลงราวร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับค่าบริการเฉลี่ยในปี 59 ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลซึ่งเป็นรายได้หลักในการหนุนการเติบโตของตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเติบโตที่ชะลอตัวลง ในขณะที่รายได้จากการให้บริการเสียง (Voice) ก็ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากการที่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่นิยมใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไลน์และเฟซบุ๊กในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันทดแทนการโทรหรือการใช้บริการด้วยเสียง ซึ่งเป็นเทรนด์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค 3G ในปี 56 จนถึงยุค 4G ในปี 59
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการบริหารต้นทุนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะต้นทุนค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่ประมูลได้ในช่วงปลายปี 58 ที่ผ่านมา รวมถึงต้นทุนด้านการลงทุนขยายโครงข่าย 4G ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและเพียงพอต่อความต้องการใช้งาน อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังต้องพิจารณาและเตรียมความพร้อมสำหรับการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ในช่วงคลื่นความถี่ใหม่ ซึ่งน่าจะมีการประมูลไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของปี 61 เพื่อให้ได้แบนด์วิธมากขึ้นสำหรับรองรับการใช้งานโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรองรับต่อการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 61 มูลค่าตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายโดยรวมของไทยน่าจะมีมูลค่าอยู่ประมาณ 253,930 – 259,580 ล้านบาท ขยายตัวในกรอบร้อยละ 4.7 – 7.1 จากปี 60 โดยน่าจะได้รับแรงหนุนหลักมาจากการทำการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลักดันให้มีผู้ใช้งานแบบรายเดือนเพิ่มขึ้น หรือการผลักดันให้ผู้ใช้รายเดือนเดิมทำการเปลี่ยนแพ็กเกจมาอยู่ในระดับราคาที่สูงขึ้น โดยมีแรงจูงใจจากการให้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตในปริมาณมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยที่ยังคงใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อรับชมวิดีโอออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้มูลค่าตลาดบริการสื่อสารข้อมูลยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดบริการสื่อสารข้อมูลดังกล่าวน่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 61 มูลค่าตลาดบริการสื่อสารข้อมูลในไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 186,660 – 190,490 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตอยู่ในกรอบราวร้อยละ 14.7 – 17.1 ชะลอตัวลงจากปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ราวร้อยละ 21.8 เนื่องจากอัตราค่าบริการที่ถูกลงจากการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด สำหรับตลาดด้านการให้บริการเสียงในปี 2561 ก็ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดด้านการให้บริการเสียงจะมีมูลค่าอยู่ราว 67,270 – 69,090 ล้านบาท หดตัวราวร้อยละ 13.3 – 15.6 จากปี 2560 อย่างไรก็ดี การหดตัวดังกล่าวเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่คาดว่าจะหดตัวราวร้อยละ 16.1 เพราะมีกลุ่มผู้ใช้บริการแบบเติมเงินย้ายมาใช้บริการแบบรายเดือนเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากการทำการตลาดที่เข้มข้นของผู้ประกอบการ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการน่าจะยังคงมุ่งเน้นทำการตลาดสำหรับจูงใจให้กลุ่มผู้ใช้งานแบบเติมเงินหันมาใช้งานแบบรายเดือนเพิ่มขึ้น โดยมีการออกแพ็กเกจรายเดือนด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้มากขึ้นในระดับราคาที่หลากหลาย เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้บริการแบบเติมเงินได้เล็งเห็นถึงความคุ้มค่าและหันมาใช้บริการแบบรายเดือนเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับแพ็กเกจสำหรับลูกค้าที่ต้องการส่วนลดเมื่อซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ โดยอาจนำเสนอแพ็จเกจการใช้งานรายเดือนในระดับราคาเริ่มต้นที่สูงขึ้นและให้ใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในปริมาณมาก หรือมีการนำเสนอแพ็กเกจในระดับราคาเริ่มต้นที่ไม่สูงมากนัก แต่ให้ลูกค้าผูกพันสัญญาแบบรายเดือนนานขึ้นจาก 6 – 12 เดือน มาเป็น 18 เดือน หรือมากสุดที่ 36 เดือน เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดดังกล่าว น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้รายได้รายเดือนเฉลี่ยต่อเลขหมาย (Average Revenue per User: ARPU) ของกลุ่มผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น และเป็นแรงหนุนหลักที่จะสามารถขับเคลื่อนให้ตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 61 รายได้รายเดือนเฉลี่ยต่อเลขหมายของกลุ่มผู้ประกอบการโดยรวมจะอยู่ที่ 233.8 – 239.0 บาท และมีอัตราการเติบโตอยู่ราวร้อยละ 4.5 – 6.8 จากปี 60
ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การให้บริการบันเทิงออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง/ ซีรี่ส์ต่างประเทศ ดูทีวีออนไลน์ ฟังเพลง หรือแม้แต่การให้บริการเกมออนไลน์ จะยังคงเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายในไทย เพื่อสร้างรายได้เสริมอื่นๆ ให้แข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากการทำกิจกรรมบันเทิงออนไลน์ต่างๆ ดังกล่าวยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคไทย ไม่เพียงแต่เฉพาะกลุ่มวัยรุ่น (นักเรียน/ นักศึกษา) และวัยทำงาน แต่ยังมีแนวโน้มขยายความนิยมไปยังกลุ่มผู้สูงอายุอีกด้วย
สำหรับในระยะกลางถึงระยะยาว (2 – 5 ปีข้างหน้า) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเข้าสู่ยุค IoT (Internet of Things) ซึ่งเป็นยุคที่อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันมีการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ และสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงการประสบความสำเร็จทางการตลาดของอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ เพิ่มเติมที่นอกเหนือจากสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น น่าจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการใช้งานโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้เพิ่มสูงขึ้นอีกมาก ซึ่งน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจ e-Wallet และทำการตลาดให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายหลักได้ ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถแตกไลน์ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมาก นำมาซึ่งการเพิ่มรายได้โดยรวมในอนาคต