นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะแรงส่งภาคต่างประเทศ ในขณะที่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของอุปสงค์ในประเทศและกำลังซื้อของภาคครัวเรือน พัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย รวมถึงการสะสมความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินบางจุด ทำให้ กนง.ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
โดยคณะกรรมการฯ ได้คำนึงถึงผลบวกและผลลบของแต่ละทางเลือกนโยบายอย่างรอบด้าน และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมทั้งวันที่ 8 พ.ย. และ 20 ธ.ค.60 เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความจำเป็น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างเข้มแข็ง และเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันยังมีความเหมาะสม โดยเอื้อให้ภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 61
“เมื่อมองไปข้างหน้า คณะกรรมการ กนง.เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะปานกลาง" นายจาตุรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการและประเมินปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อพลวัตเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากระบวนการติดตามและประเมินความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินให้สามารถใช้ประกอบการตัดสินนโยบายการเงินได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
สำหรับเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินประจำปี 61 นั้น กนง. และ รมว.คลังได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.5% บวก/ลบ 1.5% (หรือในกรอบ 1-4%) เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 61 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวแล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวจะเป็นระดับที่เอื้อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนขนาดความยืดหยุ่นของเป้าหมายดังกล่าวยังเหมาะสมในการรองรับความผันผวนที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเบี่ยงเบนออกจากกรอบเป้าหมายในระยะสั้นได้
นายจาตุรงค์ กล่าวด้วยว่า ในรายงานนโยบายการเงินยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมเล็กน้อย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าจะเติบโตได้ 3.9% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 3.8% เท่ากันทั้ง 2 ปี โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งแรงกระตุ้นภาครัฐที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ในขณะที่มองว่าความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อได้อยู่ในระดับที่สมดุลแล้ว
ทั้งนี้ สำหรับความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจในด้านบวก คือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่น่าจะทำได้ตามที่ประกาศไว้ ตลอดจนเศรษฐกิจจีนอาจจะชะลอตัวช้ากว่าที่คาด รวมถึงการส่งออกในเอเชียที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐอาจทำได้เร็วกว่าที่คาด และการเร่งการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาจช่วยเพิ่มเม็ดเงินเบิกจ่ายของภาครัฐ และส่งผลดีต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน ส่วนความเสี่ยงด้านลบ คือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าที่คาด จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านการใช้จ่ายในประเทศอาจขยายตัวไม่มากเท่าที่คาด หากกำลังซื้อในประเทศไม่กระจายตัวเท่าที่ควร
ส่วนความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อสมดุล โดยโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่ากรณีฐาน ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 61 ส่วนโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรณีฐานนั้น มาจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจต่ำกว่าคาด
“ความเสี่ยงด้านต่างประเทศในปีหน้า คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนความเสี่ยงในประเทศคือ เรื่องกำลังซื้อที่ยังไม่กระจายตัว และยังมีเรื่องภาระหนี้ เป็นตัวที่ทำให้การบริโภคไม่ได้เร่งตัวมากกว่าที่คาด คือหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะเริ่มลดลงบ้างก็ตาม แต่ยังไม่ถึงในระดับที่จะทำให้การใช้จ่ายเร่งตัวไปได้มากกว่านี้ ซึ่งการบริโภคยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เรื่องหนี้ครัวเรือนคงต้องใช้เวลา" นายจาตุรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ดี มองว่าการลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงส่งที่ดีมากต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และโครงการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งหากมีเม็ดเงินลงทุนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ก็จะยิ่งช่วยเป็นแรงส่งที่สำคัญให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนตามไปด้วย
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายจาตุรงค์ ระบุว่า แม้หลายประเทศในเอเชียจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญมากกว่าปัจจัยภายนอกประเทศ
“อัตราดอกเบี้ยเราขึ้นกับปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ เพราะระยะหลัง ความสำคัญของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเงินทุนไหลเข้าไหลออก เป็นเรื่องของ growth มากกว่า" นายจาตุรงค์กล่าว