นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในปีนี้ สำนักงาน กสทช.มีแผนขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนทั้งหมด 7 เรื่อง โดยภารกิจแรก คือ จัดประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 1800 MHz ที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในเดือน ก.ย.61 โดยเป็นการประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาต ขนาด 2x5 MHZ และ 1800 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาตขนาด 2x15 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของ กสทช. เนื่องจากจะช่วยเพิ่มแบรนด์วิธโดยรวมของประเทศให้มีเพียงพอต่อการใช้งานอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันมีเลขหมายที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงาน กสทช.ไปแล้วกว่า 130 ล้านเลขหมาย ในจำนวนนี้เป็นเลขหมายที่ใช้ระบบ 3G และ 4G มากถึง 100 ล้านเลขหมายด้วย
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กำหนดให้มีการประมูล 1 ชุดคลื่นความถี่ ( 1 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ 5 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 76 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย ก็จะเปิดให้มีการประมูล กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง
ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่จำนวน 45 MHz แบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (3 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ชุดละ 15 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,457 ล้านบาท ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 75 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 3 ราย จะประมูล 3 ชุดคลื่นความถี่ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 2-3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลเท่ากับ N-1 ชุด โดย N=ผู้เข้าร่วมการประมูล นั่นคือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 2 ชุด และถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 2 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 1 ชุด ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง
ภารกิจที่สองคือ เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ภายในเดือน ก.ย.61 และให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวน 520,000 ครัวเรือนมาลงทะเบียนเพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระดับความเร็วสูง 30/10 Mbps ฟรี เป็นระยะเวลา 3 ปีภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 4,683.73 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากวงเงินเหลือจ่ายภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2555-2559) ทั้งนี้ตามข้อมูลของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปี 2560 พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบนั้น มีรายได้เฉลี่ย 5,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน แต่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน มติของ กสทช. ดังกล่าวนี้จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อม
ภารกิจที่สาม คือ จัดทำหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใช้งานไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้ คุ้มค่ายิ่งขึ้น และให้มีการเยียวยาหน่วยงานที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ
ภารกิจที่สี่ คือ แก้ไขปัญหาการประกอบกิจการทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้เพิ่มเติมอีก หลังจากที่มีการ แก้ไขในส่วนของการขยายเวลาการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่และสนับสนุนให้มีบริการทีวีดิจิทัลตามกฎ Must Carry
ภารกิจที่ห้า คือ จัดให้มีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยระบบอัตลักษณ์ให้ครอบคลุมทุกช่องทางการขายทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.61 เป็นต้นไป โดยสำนักงาน กสทช.ได้ตรวจสอบความพร้อมของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ทั้งนี้พบว่ากรณีการลงทะเบียนที่ร้านตัวแทนจำหน่ายย่อยหรือร้านลูกตู้ยังมีปัญหาความพร้อมเรื่องอุปกรณ์และการให้ความรู้กับผู้ขายจึงให้เลื่อนการลงทะเบียนที่ลูกตู้และร้านย่อยได้ในวันที่ 1 ก.พ.61 สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนอัตลักษณ์ เริ่มจากใช้บัตรประชาชนฉบับจริงอ่านในเครื่องอ่านบัตรและทำการตรวจสอบใบหน้าจากการถ่ายภาพ หรือตรวจสอบลายนิ้วมือ เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
โดยหากข้อมูลอัตลักษณ์ของผู้ซื้อซิมการ์ดใหม่ตรงกับข้อมูลในบัตรประชาชนจะสามารถลงทะเบียนและเปิดใช้งานซิมการ์ดได้ โดยข้อมูลของท่านจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย ซึ่งจะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและข้อมูลบัตรประชาชนไว้ที่จุดบริการ ผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบอัตลักษณ์แล้ว ระบบจะทำการลงทะเบียนโดยส่งข้อมูลตรงไปที่ฐานข้อมูลกลางเพื่อเปิดใช้งานซิมการ์ด และจัดเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการทันที โดยผู้ให้บริการมีหน้าที่ดูแล และเก็บรักษาข้อมูลตามกฎหมาย
ภารกิจที่หก คือ สนับสนุนการดำเนินการและกำกับดูแลร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในการใช้งานบริการพร้อมเพย์ให้มี ความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
และภารกิจที่เจ็ด คือ สนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้งานบริการใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) บนคลื่นความถี่เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย