นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา เอ็ตด้าได้พัฒนาหลักสูตรทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อส่งเสริมความรู้ พัฒนาทักษะด้านการทำอีคอมเมิร์ซ อบรมผู้ประกอบการได้ 20,000 ราย โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเอสเอ็มอีปี 2560 ในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมผลิตภัณฑ์เข้าสู่ระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอสเอ็มอีโกออนไลน์ บาย สสว. และเอ็ตด้า (SMEs Go Online by สสว. & ETDA)
ในส่วนของเอ็ตด้าได้เข้าไปช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการทำอีคอมเมิร์ซให้มีสินค้าหรือบริการเข้าสู่อีมาร์เก็ตเพลสไปแล้วกว่า 32,300 ผลิตภัณฑ์ และสามารถสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสที่เป็นที่นิยมจำนวน 7 บริษัท รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระหว่างเอ็ตด้ากับ 9 เครือข่าย โดยคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มีโอกาสนำสินค้าขึ้นไปขายบนอีมาร์เก็ตเพลสเพิ่มมากขึ้น
"การส่งเสริมและพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซสำหรับเอสเอ็มอีในปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ จากที่ตั้งเป้าจำนวนผู้ประกอบการไว้ประมาณ 17,000 ราย แต่สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการโกออนไลน์ได้ร่วม 20,000 ราย และในปี 2561 นี้ก็คาดว่า โครงการ SMEs Go Online by สสว. & ETDA จะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการให้ค้าออนไลน์ได้อีก 5,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการขยายโอกาสทางการค้า และเพิ่มมูลค่าทางการขายได้อีกด้วย" นางสุรางคณา กล่าว
นางสุรางคณา กล่าวว่า ส่วนงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เอ็ตด้าจัดทำร่างแผนพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ครอบคลุมถึงการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะเวลา 3 ปี ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทย โดยตั้งเป้าหมายไว้ 12,000 คน ภายในปี 2564 รวมทั้งยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กับ 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยเพื่อร่วมมือด้านวิชาการและการจัดทำหลักสูตรอบรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาบุคลากร เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ
นอกจากความร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร ความร่วมมือระหว่างประเทศก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน กลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่นได้มีการหารือและพยายามสร้างความร่วมมือด้านมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาโดยตลอด และยังส่งผลให้สมาชิกอาเซียนเลือกประเทศไทยเป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ฝึกอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ASEAN-JAPAN cyber security Center)โดยจะได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 175 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทยได้มีความร่วมมือเรื่องการจัดอบรมพัฒนาบุคลากรด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับทางเอ็ตด้า ทำให้ทุกประเทศเห็นว่า หากประเทศไทยเป็นฮับโครงการก็จะมีความต่อเนื่อง
สำหรับของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนในปี 61 นี้ เอ็ตด้ามอบของขวัญให้ผู้ที่อยากเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรือทำอีคอมเมิร์ซอยู่แล้วได้มีคู่มือที่เป็นคู่คิดกับ “คัมภีร์อีคอมเมิร์ซ ครบทุกธุรกิจโกออนไลน์ (Making Your e-Commerce Easy)"เพื่อให้สามารถติดต่อหรือเข้าถึงบริการภาครัฐและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ทั้งด้านการขนส่งหรืออีโลจิสติกส์ (e-Logistic) ด้านการชำระเงินหรืออีเพย์เมนต์ (e-Payment) ด้านการตลาดออนไลน์หรืออีมาร์เก็ตติ้ง (e-Marketing) และด้านการบริการครบวงจรหรืออีฟูลฟิลเมนต์เซอร์วิส(e-Fulfillment Service)
พร้อมนำเสนอภาพรวมของระบบอีคอมเมิร์ซที่ทุกคนควรรู้ ตามแนวทางที่ภาครัฐจะสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนา อันเป็นที่มาของ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์อีคอมเมิร์ซ พ.ศ. 2560-2564 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซและผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซ ช่วยสร้างโอกาสในตลาดอีคอมเมิร์ซ และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน โดยสามารถ Download ได้ที่ เว็บไซต์ www.etda.or.th/publishing-detail/edirectory.html
นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันอีแท็กซ์อินวอยซ์บายอีเมล (e-TAX Invoice By e-Mail) สำหรับมือถือและพีซี (Mobile และ PC)ในการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ในการลดต้นทุนและสร้างความน่าเชื่อถือ ผู้ประกอบการสามารถจัดทำ และนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้กับคู่ค้าทางอีเมล ผ่านการประทับรับรองเวลาโดยสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมจัดเตรียมใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบพีดีเอฟ (PDF) ที่ใช้งานได้ทั้งบนพีซีและผ่านทางโมบายแอป ทั้งแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (iOS)ได้ที่ https://etax.teda.th/download.php