นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ได้เชิญชวนชาวนาให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 61 ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 60/61 เพื่อลดรอบการทำนาในฤดูนาปรัง ด้วยการสลับปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกอื่น ตามความต้องการของเกษตรกร และโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 60/61 มุ่งเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้า และลดรอบการทำนา อันจะส่งผลให้พื้นที่นาปรังลดลง และผลผลิตข้าวอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นไปตามเป้าหมายของ กนข. เกิดความยั่งยืนในอาชีพให้กับเกษตรกร
สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 61 มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 37,495 ราย พื้นที่ 317,371.75 ไร่ จากเป้าหมาย 450,000 ไร่ คิดเป็น 70.53% และโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 60/61 เป้าหมายพื้นที่ 700,000 ไร่ เกษตรกร 47,000 ราย ปัจจุบันมีผู้ร่วมโครงการ 610,236.31 ไร่ รวม 84,069 ราย คิดเป็น 87.11% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้
ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและลุ่มเจ้าพระยาตอนบนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของโครงการ และสูงกว่าการดำเนินการในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าชาวนาเริ่มยอมรับแนวทางการจัดระบบการปลูกข้าวใหม่ตามที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำในปัจจุบันกรมชลประทานยืนยันว่าปริมาณเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคในฤดูแล้งนี้ แต่ชาวนากลุ่มดังกล่าวยังคงยืนยันที่จะเข้าร่วมโครงการทั้งสองโครงการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 60/61 ได้กำหนดให้ชาวนาที่จะร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นเกษตรกรทำนาปีมาก่อน ตลอดจนการกำหนดช่วงวันปลูกให้ไม่เกินกลางเดือนมกราคม เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงผสมเกสร ซึ่งจะส่งผลให้การติดเมล็ดต่ำ และอาจเจอสภาพฝนตกในช่วงเก็บเกี่ยว ทำให้มีปัญหาคุณภาพผลผลิตได้ นอกจากนี้เกษตรกรยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกในการทำการเกษตร ทั้งการเข้าร่วมโครงการอื่นของรัฐบาล หรือ การเลือกปลูกพืชอายุสั้นอื่นๆ เพราะปริมาณน้ำไม่ใช่ข้อจำกัดสำหรับการปลูกพืชในฤดูแล้งนี้
"ยินดีมากที่มีการขยายพื้นที่ปลูกพืชอื่นทดแทนข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และชาวนาที่เคยเข้าร่วมโครงการในปีที่แล้วยังคงไม่เปลี่ยนใจไปจากเดิม ทั้งยังชักชวนให้เพื่อนบ้านมาร่วมกันปลูกพืชอื่นหลังการทำนาปี สะท้อนให้เห็นว่า ชาวนาของเราได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เริ่มเข้าใจในการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งจะพัฒนาให้เกิดกระบวนการกลุ่มและการปรับระบบการปลูกข้าวที่ถูกต้อง" นายสมชาย กล่าว