กสิกรฯ เตือนผู้ประกอบการเกาะติดปัจจัยทำค่าเงินผันผวนหลังดันบาทแข็งค่าแถวหน้าของภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 4, 2018 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทตั้งแต่ช่วงวันทำการแรกๆ ของปี 61 ซึ่งล่าสุดเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือนที่ 32.22 บาท/ดอลลาร์ เป็นภาพที่สอดคล้องกับกระแสเงินทุนไหลเข้า ซึ่งน่าจะได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องมาจากมุมมองเชิงบวกต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สถานการณ์ดังกล่าวตอกย้ำว่า ความผันผวนของทิศทางค่าเงินบาทในระหว่างปียังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่า จุดสนใจหลักๆ ของตลาดการเงินในปี 61 จะยังคงอยู่ที่สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกของเงินดอลลาร์ฯ แต่คงต้องยอมรับว่าการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะกลับขึ้นไปอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปีนี้ แต่คงจะต้องจับตาปัจจัยอื่นๆ ในระหว่างปีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเงินบาท รวมถึงความไม่แน่นอนของจังหวะเวลา ไม่ใช่จำนวนครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ความผันแปรของประเด็นทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ตลอดจนเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ

ดังนั้นการเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง อาทิ สัญญาฟอร์เวิร์ด ออปชั่น และการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ ที่เหมาะสม อาจช่วยให้ภาคธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมระหว่างประเทศ สามารถจัดการกับกระแสรายรับและบริหารต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวนของค่าเงินบาทในปีนี้ที่อาจมีภาพที่ไม่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา

เงินบาทแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี เข้าใกล้ระดับ 32.20 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 3 ปี สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ยังคงไร้ปัจจัยสนับสนุนที่มีนัยสำคัญ แม้ว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นท่าทีที่แตกต่างไปจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยซึ่งมีโอกาสทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 61

"ภาพดังกล่าวสะท้อนว่าความผันผวนของทิศทางค่าเงินบาทท่ามกลางความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยในต่างประเทศ จะยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในปีนี้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ เปิดตลาดปี 61 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 32.22 บาท/ดอลลาร์ หลังแข็งค่าทะลุแนว 32.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งน่าจะเป็นแนวสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ตามปัจจัยทางเทคนิคตามมา นอกจากนี้เงินบาทก็ยังมีแรงหนุนจากการกลับเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่วันทำการแรกๆ ของปีด้วยเช่นกัน และแม้ว่ากระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จะทำให้สกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงเงินหยวนปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับเงินบาท แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลหนุนให้เงินบาทมีอัตราการแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค เมื่อเทียบกับระดับปิด ณ สิ้นปี 60 ที่ผ่านมา

ปัจจัยบวกที่สำคัญของเงินบาทในปี 61 ยังมาจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ในระดับที่สูงกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ติดต่อกันเป็นปีที่สาม ซึ่งไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.54 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 60 หลังจากที่เกินดุลสูงถึง 4.82 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 59 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ แนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนความคืบหน้าของตารางเวลาทางการเมืองในประเทศ ก็น่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการลดงบดุล) ไปได้บางส่วน ทั้งนี้ แม้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทย จะยังคงมีท่าทีเป็นแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ของไทย โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนระยะยาว ก็น่าจะสามารถทยอยขยับขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในต่างประเทศได้

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของอีกหลายปัจจัยอาจทำให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงหลังจากนี้มีความผันผวน โดยเฉพาะประเด็นจากฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง “ปัจจัยบวก" หรือ “ปัจจัยลบ" ต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะที่เหลือของปี ได้แก่ จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด, สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก, ปัจจัยทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศของสหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ