บอร์ดปฏิรูปเคาะร่างยุทธศาสตร์ฯ ความสามารถในการแข่งขันพร้อมเปิดรับฟังความเห็น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 4, 2018 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้เสนอร่างยุทธศาตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้คณะกรรมการยุทธศาตร์ชาติพิจารณาแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะนำไปรวบรวมข้อมูลกับคณะกรรมการชุดอื่นๆ และนำไปรับฟังความเห็นของประชาชนต่อไปในช่วงเดือน ก.พ.61

สำหรับร่างยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นมุ่งเน้นพัฒนาประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ย่อยใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการเกษตร 2.ด้านอุตสาหกรรมและภาคบริการ 3.ด้านการท่องเที่ยว 4.ด้านระบบขนส่งและโลจิสติกส์ 5.ด้านการสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่

โดยด้านการเกษตร มุ่งเน้นให้ไทยเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีกว่า 25 ล้านคน มีรายได้สูงขึ้นและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยได้ข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สามารถต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เน้นเกษตรที่มีคุณภาพสูงและต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า และความหลากหลายของสินค้าเกษตร สร้างฐานเกษตรที่มีรายได้สูง ทั้งด้านเกษตรปลอดภัย เกษตรสุขภาพ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสูง

ด้านอุตสาหกรรมและภาคบริการแห่งอนาคต ต้องพร้อมรับมือและสร้างโอกาสจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการประวัติปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพื้นฐานโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการ เพิ่มบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ตามความต้องการของตลาด สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมและบริการดิจิตัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ

ด้านการท่องเที่ยว หวังให้ไทยเป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก มุ่งพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงเพิ่มมากขึ้น ด้วยอัตลักษณ์และนวัตกรรมไทย และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและความหลากลายของการท่องเที่ยว ให้สอดรับกับทิศทางและแนวโน้มของตลาดยุคใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชมและเมืองและเพิ่มแรงงานในภาคท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ผ่านการสร้างและพัฒนาสินค้าและบริการ การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวทางน้ำ และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับต่างประเทศ

ด้านระบบขนส่งและโลจิสติกส์ มีแนวคิดเรื่องเชื่อมไทย เชื่อมโลก มุ่งหวังให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน และเป็นจุดเชื่อมต่อของภูมิภาคเอเชีย ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อ จากเอเชียตะวันออกถึงเอเชียใต้ โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย เพิ่มพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีอีซี เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจตะวันตก สร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจและนวัตกรรมแห่งใหม่ในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเติบโตของกรุงเทพฯและสร้างเมืองเศรษฐกิจเฉพาะด้าน เช่น เมืองศูนย์กลางยางพารา เมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น

พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างระเบียงทางด่วนดิจิตัลและสร้างโอกาสการเข้าถึงบรอดแบรนด์ รวมไปถึงการรักษาและเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค และสร้างพลวัตทางกฏหมายที่เป็นธรรม และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน บุคลากร และเชื่อมโยงประเทศไทยกับประชาคมโลก

ด้านการสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ เน้นการสร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ กลาง เล็ก วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งเกษตร ให้เป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ ที่มีความสามารถในการแข่งขัน โดยมีนวัตกรรสในการสร้างโมเดลธุรกิจ นวัตกรรมในเชิงสินค้าและบริการ และนวัตกรรมในเชิงกระบวนการผลิตและบริการ พร้อมทั้งเป็นนักการค้าที่เข้มแข็ง นำไปสู่การเป็นชาติการค้า มีสามารถเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเก่ง ขายเก่ง หรือซื้อเป็น ขายเป็น มีบริการเป็นเลิศ สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปต่างประเทศ พร้อมไปกับการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน ตลาดและข้อมูล รวมทั้งปรับบทบาทและกลไลภาครัฐ เพื่อสร้างสังคมผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

นายสถิตย์ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นเป็นการวางเพื่ออนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์บ้านเมือง สภาพเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทางคณะกรรมการจะมีการจัดทำแผนแม่บทที่ระบุรายละเอียดและระยะเวลาดำเนินการตามแผนงานที่ชัดเจน โดยอาจจะแบ่งเป็นช่วง 5 ปี ที่จะมีการจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับภาระงบประมาณประจำปี ความพร้อมของภาครัฐและภาคเอกชนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ