นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยในการเสวนา “โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าภายในประเทศ" ว่า กทท.จะเปิดให้บริการช่วงกลางเดือนมี.ค. 61 วงเงินลงทุน 614 ล้านบาท โดยการปรับปรุงมี 2 ส่วน คือ การปรับปรุงเพิ่มความแข็งแรงของท่าเรือความยาว 250 เมตร จอดเรือได้พร้อมกัน 3 ลำ จะแล้วเสร็จในวันที่ 15 ม.ค.นี้ อีกส่วนจะซื้อปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าที่ชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) จำนวน 2 คัน ยกตู้สินค้าได้ 40 ตัน ซึ่งจะส่งมอบในวันที่ 19 ม.ค. จากนั้นจะเป็นการติดตั้งและทดสอบระบบรวมถึงการทดสอบในส่วนของกรมศุลกากรด้วย
ท่าเรือ 20G มีขีดความสามารถในการรองรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณ 4,000 ลำ/ปี รองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 240,000 ที.อี.ยู./ปี ซึ่งปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพมีปริมาณตู้สินค้าชายฝั่งประมาณ 60,000-70,000 ที.อี.ยู./ปี ซึ่งคาดว่าปริมาณตู้จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% หรืออาจจะมากถึง 20,000 ที.อี.ยู. ในปีนี้ จากบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้นของการเปิดท่า 20 G ช่วยลดปริมาณรถบรรทุกบนถนนได้อย่างน้อย 20,000 เที่ยว/ปี
นายโกมล คาดว่าส่วนหนึ่งจะช่วยลดปริมาณจราจรบนถนนด้วยรถบรรทุกโดยเฉพาะจากไอซีดีลาดกระบัง ไปท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปัจจุบันปริมาณสินค้าที่ไอซีดีมี 1.4 ล้านที.อี.ยู. แต่สามารถขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ 4 แสนที.อี.ยู. เพราะไม่มีแคร่รองรับ ที่เหลือ 1 ล้านที.อี.ยู.ขนทางถนน ทำให้เกิดปัญหาจราจรและถนนเสียหาย ดังนั้น ท่า 20G ของท่าเรือกรุงเทพจะแบ่งเบาตู้สินค้าในส่วนนี้มาลงเรือชายฝั่งไปยังแหลมฉบังแทน ซึ่งสามารถใช้รถขนาดเล็ก 4 ล้อ 6 ล้อ ขนส่งตู้มาลงเรือได้ตลอด 24 ชม. ไม่ติดเรื่องน้ำหนัก และติดเวลาห้ามเหมือนรถบรรทุกใหญ่
โดยเรือชายฝั่งจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์และเวลาได้มาก นอกจากนี้ จะกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงจากปกติประมาณ 15-20% เพื่อเป็นโปรโมชั่นเพื่อจูงใจอีกด้วย เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมากแน่นอน โดยโปรโมชั่นจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ค่าแรง เป็นต้น โครงการนี้มีผลตอบแทน( IRR) ที่ 22% ระยะเวลาคืนทุน 6 ปี
ทั้งนี้ เดิมบรรจุสินค้าที่เขตท่าเรือกรุงเทพและใส่ลงเรือฟีดเดอร์หรือเรือขนส่งไปยังต่างประเทศเป็น Loading Port ซึ่งการเปิดท่า 20G จะมีบริการใหม่ในการบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยจะเป็นท่าเรือตรวจปล่อย หรือ Release Port และเป็น Loading Port แทนท่าเรือแหลมฉบังด้วย สามารถนำสินค้ามาบรรจุใส่ตู้และตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าของกรมศุลกากร ได้เบ็ดเสร็จที่ท่าเรือกรุงเทพ ลงเรือชายฝั่ง เพื่อส่งต่อเรือแม่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยไม่ต้องเสียเวลาตรวจปล่อยซ้ำอีก ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียวเบ็ดเสร็จ มีการทำงานตลอด 24 ชม. มีกล้อง CCTV บันทึกภาพขณะขนถ่ายและมีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด