นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ ธ.ก.ส. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการพัฒนาอาชีพ การลดต้นทุนการผลิต การผลิตอาหารปลอดภัย รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบจำนวน 6,010 ชุมชน ซึ่งได้มองเห็นถึงศักยภาพของชุมชนหลายแห่งที่สามารถพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การสัมผัส วิถีชีวิตชุมชน ประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปสอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบรูปแบบการท่องเที่ยวดังกล่าว
สำหรับรูปแบบการดำเนินงาน ธ.ก.ส. จะคัดเลือกชุมชนที่มีความพร้อม โดยมองถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การรวมกลุ่ม การสร้างชุมชนนิเวศน์และการเชื่อมโยงธุรกิจไปสู่กลุ่มโฮมสเตย์ ธุรกิจกับชุมชนรอบข้าง เครือข่ายและองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน โดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนในเรื่อง การจัดทำป้ายในจุดต่าง ๆ ให้ชัดเจนสำหรับเป็นจุด Check in สนับสนุน เงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำส่วนกลาง ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ ท่าเรือ โดยร่วมกับชุมชนและองค์กรในชุมชน การสร้างสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ให้ตรงกับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย สร้างระบบการจองห้องพัก แพ็กเกจท่องเที่ยวผ่านระบบออนไลน์และเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว จัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ในการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปี 2560 ธ.ก.ส. ได้คัดเลือกชุมชนนำร่องเพื่อพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบจำนวน 16 แห่ง ประกอบ ไปด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ ชุมชนสันป่าเหียง จ.เชียงราย ชุมชนชีววิถีน้ำเกี๋ยน จ.น่าน ชุมชนเมืองลี้ จ.ลำพูน ชุมชนบ้านสันทางหลวง จ.เชียงราย และบ้านหนองแม่นา จ.เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บ้านภู จ.มุกดาหาร บ้านตากลาง(หมู่บ้านช้าง) จ.สุรินทร์ ศูนย์เรียนรู้การเกษตรอทิตยาทร จ.สุรินทร์ ภาคตะวันตก ได้แก่ บ้านริมคลองโฮมสเตย์ จ.สมุทรสงคราม ชุมชนถ้ำรงค์ จ.เพชรบุรี บ้านศาลาดิน จ.นครปฐม ภาคตะวันออก ได้แก่ บ้านด่านใหม่ จ.ตราด บ้านทุ่งเพล จ.จันทบุรี ภาคใต้ ได้แก่ บ้านถ้ำเสือ จ.กระบี่ บ้านเกาะโหลน จ.ภูเก็ต บ้านริมทะเล จ.พังงา ซึ่งหากโครงการนำร่องประสบความสำเร็จ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าที่จะขยายไปสู่ชุมชนอื่น ๆ เพิ่มเป็น 35 ชุมชนในปี 2561
“การต่อยอดไปสู่ชุมชนท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพเสริม เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน ชาวบ้านเกิดความรักความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นตนเอง อันนำไปสู่การสร้างชุมชนอุดมสุข ที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน"นายอภิรมย์ กล่าว