นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT กล่าวว่าตามที่เว็บไซต์บลูมเบิร์ก รายงานข่าวว่า ทอท. เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกในหุ้นกลุ่มท่าอากาศยาน โดยหุ้น AOT มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 75% จากการอ้างอิงข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้หุ้น AOT มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) มากกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยาน แม่ฟ้าหลวง เชียงราย เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสนามบินแออัด อาจจะกระทบต่อกิจการในอนาคต เห็นควรขยายผล เพื่อสะท้อนถึงมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยมากขึ้นนั้น
ทอท.มีแผนขยายท่าอากาศยานภายใต้ความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่งในระยะ 10 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยจะเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 83.5 ล้านคนต่อปีเป็น 184 ล้านคนต่อปีในปีงบประมาณ 2568 คาดว่าใช้งบประมาณลงทุนรวม 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2561 หลังการปรับปรุงท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 แล้วเสร็จ และเมื่อรวมกับการปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง ในปี 2559 พบว่า ทอท.ได้ขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 42.5 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2560 มีปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานของ ทอท. เป็นจำนวน 133 ล้านคน
โดยปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ ตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 – 2560) โดยได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี
นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการพัฒนาท่าอากาศยานแล้ว ทอท. ในฐานะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมได้ร่วมทำแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การบริหารท่าอากาศยาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งทางอากาศของประเทศในภาพรวม โดย ทอท.ได้วิเคราะห์บทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทย ภายใต้กรอบแนวคิดแบบการบริหารจัดการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ต้องทำเป็นกลุ่ม (Cluster) เพื่อให้การบริหารจัดการน่านฟ้าของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (Positioning) ของท่าอากาศยานแต่ละแห่ง อันจะเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ภาคพื้น ยังทำให้การทำการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่ม Cluster เป็นไปในทิศทางเดียวกันและไม่เกิดการแข่งขันกันเอง ซึ่งจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยรวม