นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) พร้อมกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้เดินทางมายื่นหนังสือที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาแนวทางปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยปี 2561 ของกระทรวงแรงงาน เนื่องจากกระแสข่าวการปรับอัตราค่าจ้างขึ้น 2-15 บาท สร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ กกร. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเติมต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการไปยังกระทรวงแรงงานดังนี้
ข้อ 1 ควรปรับให้สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน ตามกฎหมายพัฒนาส่งเสริมฝีมือแรงงาน ที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้าง 67 สาขา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากอัตราค่าจ้างทั่วประเทศเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้นำนวัตกรรมมายกระดับธุรกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ข้อ 2 กกร.เห็นด้วยในการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปี แต่ไม่ควรกำหนดอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เนื่องจากสภาพข้อเท็จจริงแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน ควรมอบอำนาจ "คณะอนุกรรมการค่าจ่างจังหวัด"พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างตามข้อเท็จจริงของจังหวัดนั้นๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจสังคม รายได้ประชาชาติต่อหัว สภาพจำนวนการจ้างงาน ประเภทขนาดธุรกิจ
ข้อ 3 ต้องคำนึงถึงกระทบที่ตามมารอบด้าน เช่นผลกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคการเกษตร ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 มีการจ้างงาน 37.72 ล้านคน แบ่งเป็นงานภาคเกษตร 12.05 ล้านคน ภาคการผลิต 14.79 ล้านคน แภาคบริการและการค้า 10.88 ล้านคน
"ภาคผลิตและบริการ รวมกว่า 25.67 ล้านคน เมื่อมาพิจารณาร่วมกับผลการสำรวจสำมโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ปี 2560 และข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จำนวนการจ้างงานข้างต้น มีส่วนของการจ้างงาน 11.7 ล้านคน โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1 ล้านรายรวมอยู่ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นได้เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่"นายกลินท์ กล่าว
อีกทั้ง ผลกระทบกับภาคเกษตรอีกว่า 12.5 ล้านคน ที่มิได้รับประโยชน์จากการปรับค่าแรงโดยตรงและอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องพิจารณาในการปรับอัตราค่าจ้างครั้งนี้ ให้กระทบกับทุกภาคส่วนน้อยที่สุด
ข้อ 4 สภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเพิ่งฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีความผันผวน เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ความผันผวนราคาน้ำมัน การปรับค่าจ้างที่สูงเกินไป อาจเป็นปัจจัยกระทบกับสภาพเศรษฐกิจและความสนใจในการลงทุนของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ
ข้อ 5 ภาครัฐควรผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมืแรงงาน เพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือ ใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง และยกระดับแรงงานเพื่อรองรับ ไทยแลนด์ 4.0
"กกร. เห็นพ้องกันว่า ควรมีการปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีในประเทศไทย แต่ต้องไม่เท่ากันทั้งประเทศ และไม่สูงเกินไป รวมทั้งปรับขึ้นค่าแรง ความเป็นไปตามความสามารถฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ และทักษะของแรงงาน โดยยึดหลักในการปรับค่าแรงงานประจำปีที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง"นายกลินท์ กล่าว