นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานวางเป้าหมายแผนพลังงานของประเทศ ภายใต้กรอบหลักค่าไฟฟ้าในระยะยาวจะต้องไม่แพง ไม่มีระบบโควตา และไม่มีการผูกขาด โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบมจ.ปตท. (PTT) ศึกษาบทบาทและผลกระทบต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุแผนดังกล่าว เพื่อเตรียมนำมาจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ที่จะต้องมีความชัดเจนในสิ้นเดือน มี.ค.61
“เราควรจะช่วยกันอย่างต่อเนื่องปรับปรุงระบบต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และส่งต่อให้ถึงประชาชนได้ ยกตัวอย่างทำไมเราไม่มาช่วยกันส่งเสริม เร่งให้เกิดการพิจารณาหามาตรการที่จะทำให้ค่าครองชีพ ทั้งค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและน้ำมันที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงพลังงานที่ไม่แพง และมีแนวโน้มลดลงในอนาคต สิ่งที่จะทำในด้านนี้ไม่ใช่การอุดหนุนราคา แต่ต้องมองด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้นวัตกรรมที่ก้าวหน้ามาช่วยเสริม...สามารถพูดได้ในวันนี้ชัดเจน ซึ่งเป็นแผนภายใต้การกำกับกิจการพลังงานมาตลอดว่า ระบบท่อส่งก๊าซธรมชาติ ยังอยู่ภายใต้ความเป็นเจ้าของรัฐผ่าน ปตท.ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระบบสายส่งไฟฟ้า ก็จะอยู่ภายใต้ system operator ของ กฟผ. ไม่เปลี่ยนแปลง"นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นระบบที่มีการผูกขาดไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดทั้งจากภาครัฐ,เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจะต้องไม่มีลักษณะของเสรีจนเกินไป ซึ่งในส่วนของกฟผ. จะต้องศึกษาความเหมาะสมหลายรูปแบบ ทั้งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศ ,การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของกฟผ. ที่ต้องการจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าราว 2 พันเมกะวัตต์
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา รวมถึงภาพรวมของการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่บนรูปแบบที่ราคาค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงและมีแนวโน้มถูกลง จากปัจจุบันที่ค่าไฟฟ้าขายปลีกอยู่ที่ราว 3.60 บาท/หน่วย ขณะที่ตามแผน PDP2015 ฉบับปัจจุบัน ค่าไฟฟ้าระยะยาวจะอยู่ที่ราว 5.55 บาท/หน่วย รวมถึงการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.และภาคเอกชน ควรอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งหากรายใดสามารถผลิตไฟฟ้าได้ภายใต้กรอบค่าไฟฟ้าที่ถูกก็ควรจะเป็นผู้ได้รับสิทธิการผลิตไฟฟ้าไป
กรณีของ ปตท. ให้ศึกษาเรื่องราคาก๊าซธรมชาติ ,ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเหมาะสม ตลอดจนการแข่งขันธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันจัดหาก๊าซธรมชาติในประเทศมากขึ้น ภายใต้การกำกับไม่ให้เกิดการคิดค่าบริการเกินความเหมาะสมซึ่งอาจจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
“ที่สำคัญเราต้องศึกษาว่าทำอย่างไร รูปแบบไหน ราคาไม่แพง และมีแนวโน้มถูกลง ถ้า model ทำได้แล้วนำไปสู่รูปแบบนั้นได้ เราก็ควรจะสนับสนุนแบบนั้นมากกว่าใช่หรือไม่...ตอนนี้เราก็ให้กฟผ. และปตท.แสดงความคิดเห็นว่าเป็นอย่างไร ให้ศึกษาพิจารณาไปเรื่อย ๆ แต่อย่าลืมว่าเรามีนัดเรื่องของแผน PDP ฉบับใหม่ที่ต้องชัดเจนภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้"นายศิริ กล่าว
แผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ตามแผน PDP2015 ฉบับปัจจุบันที่มีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 16,778 เมกะวัตต์นั้น นายศิริ กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีสัดส่วนเพียง 12% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งตามเป้าหมาย PDP2015 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 20% เห็นว่าไม่ควรจะกำหนดสัดส่วนการผลิต เพราะในอนาคตรัฐบาลมีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีอยู่แล้ว ก็จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าจะสามารถตอบโจทย์หลักที่ค่าไฟฟ้าจะต้องไม่แพงหรือไม่ จากปัจจุบันอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 22 สตางค์/หน่วย
กรณีดังกล่าวอาจจะทำให้การจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในแบบ VSPP Semi-Firm จำนวน 269 เมกะวัตต์ อาจต้องชะลอออกไป เพราะต้องรอให้แผน PDP ฉบับใหม่มีความชัดเจนก่อน ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนนั้น นอกจากเรื่องจะเป็นเรื่องของการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ยังต้องพิจารณาเทียบกับประเด็นทางสังคมด้วย
นอกจากนี้ตามแผน PDP ฉบับใหม่ยังเห็นควรที่จะต้องกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งอาจจะมีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่อาจไม่มีความจำเป็นต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ แต่อาจจะอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อความเหมาะสม
นายศิริ กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินงานสำคัญของกระทรวงพลังงานในปัจจุบันในเรื่องของการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติที่จะหมดอายุในปี 65-66 ทั้งแหล่งบงกช และเอราวัณ จะต้องมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือน ม.ค. และคาดว่าจะเริ่มออกเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้ ขณะที่ความชัดเจนของโรงไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา จะต้องชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า และเรื่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี จะต้องมีความชัดเจนภายในกลางปีนี้
อนึ่ง เมื่อเร็ว ๆนี้ หนังสือพิมพ์ได้มีการเผยแพร่เอกสาร ที่เกี่ยบกับแผนพลังงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.60 โดยส่วนหนึ่งมองว่าจะเป็นการลดบทบาทของกฟผ.และปตท.ลงในอนาคต ซึ่งในวันนี้ รมว.พลังงาน ได้ระบุเรื่องดังกล่าวว่า เอกสารดังกล่าวได้ถูกส่งต่อให้กฟผ.และปตท. ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงบทบาท และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาการจัดทำแผนพลังงานต่อไปในอนาคต