นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ทางผู้บริหาร สรท.นัดหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงทิศทางค่าเงินบาทหลังมีแนวโน้มอาจจะแข็งค่าต่ำกว่า 32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งในอดีตเคยลงไปต่ำถึง 28 บาท/ดอลลาร์
"หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องบริหารให้เกิดความสมดุล หากค่าเงินจะปรับเปลี่ยน ก็ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ไม่ผันผวนมาก" นางสาวกัณญภัค กล่าว
พร้อมมองว่า ทิศทางค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่ำกว่า 32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งในอดีตเคยลงไปต่ำสุดที่ 28 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ามาจากการขยายตัวของการส่งออก, การขยายตัวของการท่องเที่ยวที่ทำให้เงินต่างไปไหลเข้าประเทศ ซึ่งจะต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ หรือการนำเข้าวัตถุดิบ ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนค่าเงินควรอยู่ในระดับ +-5%
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนกังวล คือ ปัญหาค่าเงินบาทผันผวน เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 61 หากไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างรุนแรง
"หากเราตั้งเป้าส่งออกปีนี้ว่าจะโต 4% หรือมีมูลค่าราว 15.57 ล้านล้านบาท เงินบาทที่แข็งค่าลง 1 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกหายไป 791,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของจีดีพี" นายคงฤทธิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ถึงแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดี แต่หากเงินบาทแข็งค่ามากไปก็จะไม่เกิดผลดี และผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ส่งออกเท่านั้น
"การทำประกันความเสี่ยงคงไม่เพียงพอ หากมีความผันผวนรุนแรง และยังสร้างภาระต้นทุนให้กับผู้ส่งออกด้วย" นายคงฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ สรท.เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 33-34 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะต้องรักษาเสถียรภาพค่าเงินให้อยู่ในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระยะสั้นและระยะกลาง ที่ขอให้มีมาตรการควบคุมการออกพันธบัตรระยะสั้น, มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเพื่อการเก็งกำไรค่าเงิน
พร้อมกันนี้ สรท.ขอทราบรายงานการไหลเข้า-ออกของเงินแบบรายวัน เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด ขณะที่มีข้อเสนอระยะสั้นและระยะกลางต่อกระทรวงการคลัง โดยขอให้นำเงินสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูง มาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โครงการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) เพื่อลดการกู้ยืมเงินทุนจากต่างประเทศ
โดยในส่วนของผู้ประกอบการเองนั้น ในระยะสั้นควรจะศึกษาและบริหารจัดการโครงสร้างต้นทุนราคาสินค้า วัตถุดิบ, ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า, ป้องกันความเสี่ยงทุกครั้ง, ใช้สกุลเงินท้องถิ่นที่เข้าไปลงทุน ส่วนระยะกลาง ควรหาแหล่งนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า และเร่งนำเข้าเครื่องจักร
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า รัฐบาลควรชะลอการปรับขึ้นค่าแรงออกไปก่อน 1 ปี เนื่องจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อกิจการที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี